ในยุค “ดาต้า” เป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ “ดาต้า” จึงกลายเป็นเสมือนเป็นเข็มทิศสำคัญในการกำหนดแนวทางธุรกิจให้ตอบสนองเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือผู้บริโภค
ในงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ LINE ประเทศไทย ได้เผยถึงโร้ดแมปและทิศทางการพัฒนาโซลูชั่นบน LINE มุ่งช่วยให้ภาคธุรกิจไทยใช้ดาต้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเครื่องมือและโซลูชันใหม่ที่ LINE จะทยอยพัฒนาเพิ่มขึ้นตามโร้ดแมปของช่วงปลายปี 2024-2025 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1) กลุ่มบริการด้านโฆษณา ได้แก่ การเปิดตัวโฆษณารูปแบบใหม่บนตำแหน่ง Smart Channel หรือด้านบนของหน้ารายการแชต เรียกว่า “Smart Channel Premium” เปิดกว้างให้แบรนด์ นักโฆษณาปล่อยพลัง ใส่ความคิดสร้างสรรค์ด้วยโฆษณารูปแบบวิดีโอเอนิเมชั่นที่สามารถขยายเต็มหน้าจอได้ ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ กระตุ้นให้แบนเนอร์โฆษณาในตำแหน่งทำเลทองนี้น่ารับชม ดึงดูดตา ดึงดูดใจมากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดให้บริการในปลายปี 2024 นี้
นอกจากโฆษณาในรูปแบบใหม่ LINE ยังมีแผนพัฒนาตัวเลือกในการระบุกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) บน LINE Ads ให้หลากหลาย ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้น โดยในปีนี้ LINE ได้มีการเพิ่มตัวเลือกกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ตามความสนใจไปแล้วถึง 32 กลุ่ม
ล่าสุด! ยังปลดล็อคให้แบรนด์สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจในกลุ่มผู้ติดตามบน LINE OA ได้ ด้วยตัวเลือกถึงกว่า 95 กลุ่มความสนใจ อาทิ กลุ่มผู้สนใจด้านอาหาร ที่มีฐานรวมมากกว่า 50 ล้านคน กลุ่มผู้สนใจช็อปปิ้งมากกว่า 38 ล้านคน กลุ่มผู้สนใจด้านการบริหารการเงินและการลงทุนมากกว่า 23 ล้านคน และกลุ่มผู้สนใจแฟชั่นมากกว่า 15 ล้านคน เป็นต้น
และในช่วงปลายปีนี้ จะมีการขยายไปสู่กลุ่มผู้ใช้งาน LINE OpenChat ตามกลุ่มการพูดคุยที่หลากหลาย รวมถึงแผนขยายไปยังบริการอื่นๆ บน LINE เช่น LINE TODAY ที่มีแผนจะขยายไปในช่วงต้นปี 2025 ส่งผลให้ในอนาคตอันใกล้ LINE Ads จะมีตัวเลือกกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจให้แบรนด์ได้เลือกใช้ได้อย่าหลากหลายโดยรวมมากถึง 100 กลุ่มขึ้นไป
2) กลุ่มโซลูชั่นด้านดาต้า เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการดาต้าให้กับแบรนด์ให้ดีและสะดวกยิ่งขึ้นผ่านเครื่องมือ MyCustomer ซึ่งทำหน้าที่เป็นถังเก็บ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้แบรนด์สามารถนำมาข้อมูลมาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย ในการสื่อสารและทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงได้
โดย LINE มีแผนพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ให้กับเครื่องมือ MyCustomer ได้แก่ Customer Profile Importer การจับคู่ข้อมูลด้านโปรไฟล์ของลูกค้ากับผู้ติดตามใน LINE OA โดยจะมีกำหนดเริ่มให้บริการในช่วงปลายปี 2024
Marketing Automation ฟังก์ชั่นการเซ็ตเงื่อนไขให้ระบบทำงานบางอย่างแบบอัตโนมัติให้ ทำให้แบรนด์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดได้ แบ่งเบาภาระการทำงานของบุคลากร อาทิ การเซ็ตระบบให้ส่งโปรโมชันพิเศษไปหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายในโอกาสสำคัญ เช่น ครบรอบวันเกิด หรือช่วงซัมเมอร์เดย์ของแบรนด์ เป็นต้น โดยจะมีกำหนดเริ่มให้บริการในช่วงต้นปี 2025
DATA Connector เปิดการเชื่อมต่อดาต้ากับระบบภายนอกอื่นๆ ที่แบรนด์ใช้งาน อาทิ SAP, SALEFORCE ฯลฯ ทำให้แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าได้ดียิ่งขึ้น
และ Predictive Audience นำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยแนะนำ คาดการณ์กลุ่มเป้าหมายใหม่ ตามลักษณะกิจกรรม พฤติกรรมและโปรไฟล์ต่างๆ ตามข้อมูลลูกค้าที่แบรนด์มี เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร การตลาดแบบ Re-Targeting ได้ โดยทั้งสองฟังก์ชั่นท้ายนี้มีแผนเปิดให้บริการในกลางปี 2025
นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องมือ MyCustomer | CRM ที่ร้านค้านิยมใช้ในการบริหารจัดการดาต้าในด้าน CRM ทั้งในรูปแบบระบบสมาชิกและแจกพอยท์ LINE มีแผนยกระดับความสามารถ เปิดการเชื่อมต่อข้อมูลกับช่องทางการขายอื่นๆ ได้ อาทิ อีมาร์เก็ตเพลส ช่องทางโซเชียลต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้
รวมไปถึงแผนเชื่อมต่อข้อมูลกับบริการสั่งอาหาร LINE MAN และร้านค้าที่ใช้งาน Wongnai POS ภายในปี 2025 ช่วยให้ร้านค้าสามารถระบุตัวตนลูกค้าได้แม่นยำขึ้นจากฐานข้อมูลที่ใหญ่และครอบคลุมมากกว่าเดิม ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ
ขณะเดียวกัน LINE ยังมีแผนพัฒนาฟังก์ชั่น Special Event Targeting ช่วยในการนำดาต้าของลูกค้ามาสร้างกิจกรรมพิเศษตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้ เช่นการส่งโปรโมชันพิเศษวันเกิด ข้อเสนอเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้าประจำ ลูกค้าที่อยู่กับแบรนด์มานาน ฯลฯ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ โดยฟังก์ชั่นดังกล่าวมีแผนเปิดให้บริการในปลายปีนี้
3) กลุ่มเครื่องมือเพื่อติดตามผล มุ่งผลักดันให้เกิดการใช้งาน Conversion API ช่วยแบรนด์ในการติดตามผลพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ในยุคที่ Cookieless Policy ยังคงเป็นข้อจำกัดและความท้าทายใหญ่สำหรับแบรนด์ในการได้มาซึ่งข้อมูล ด้วยบทบาทการเป็นตัวช่วยสำคัญ ในการติดตามผลพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำและครอบคลุม ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในไทยไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ผลลัพธ์การใช้งานจากแบรนด์ในญี่ปุ่นพบว่า การใช้งาน Conversion API สามารถช่วยเพิ่มอัตราคอนเวอร์ชั่น (CVR) บนเว็บไซต์ได้มากขึ้นถึง 2 เท่า และขยายฐานผู้ใช้งานที่ใช้ระบบ iOS ได้สูงถึง 3 เท่าจากการใช้ Conversion API ควบคู่ไปกับ LINE Tag ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้งาน Conversion API ในการช่วยแบรนด์ติดตามผลพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่แบรนด์มองหาได้อย่างลงตัว
มุ่งสานต่อเป้าหมาย แพลตฟอร์มเปิดเพื่อธุรกิจไทย วิ่งให้ทันโลกที่หมุนเร็ว
สำหรับทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มในระยะยาวเพื่อภาคธุรกิจไทย LINE จะมุ่งเน้นการพัฒนาไปใน 2 ด้านคือ ด้านผลิตภัณฑ์ อันได้แก่
1) มุ่งเปิดกว้างในการสร้างและเชื่อมต่อเครื่องมือใหม่ๆ เข้ากับ LINE ภายใต้แพลตฟอร์ม LINE OA Plus สานต่อจุดมุ่งหมายในการเป็นแพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจไทย ให้ได้เข้ามามีส่วนในการสร้างบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันไป และนักพัฒนาไทย ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมผ่าน Open API บนแพลตฟอร์ม LINE OA Plus นี้
2) มุ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ในการช็อปปิ้งผ่าน LINE OA เสมือนมีผู้ช่วยส่วนตัว อาทิ การมีแชตบอทนำเสนอสินค้าและบริการได้ครบครัน ตรงใจ การสร้างตัวช่วยใหม่ๆ ให้แบรนด์สามารถนำอินไซต์ลูกค้าจากการแชต มาเป็นข้อมูลในการทำ Ad-Targeting ได้ รวมถึงช่วยให้ LINE พัฒนาปรับปรุงตัวเลือกใหม่ๆ ในการระบุกลุ่มเป้าหมาย Persona Targeting ให้หลากหลายยิ่งขึ้นไปด้วยในตัว
3) มุ่งพัฒนาการทำ Chat Commerce บน LINE ให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเครื่องมือหรือฟังก์ชั่นในด้าน Sale Analysis ด้านการบริหารจัดการสินค้า/ออเดอร์สินค้าที่ค้างอยู่ในขั้นตอนการซื้อต่างๆ ด้านประสบการณ์การซื้อขายผ่านแชตบน LINE ให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมไปถึงพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานแชตบอทสำหรับแอดมิน ร้านค้าให้มีประสิทธิภาพขึ้นในอนาคต
ในส่วนทิศทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยี LINE มุ่งเน้นไปที่การเปิดการเชื่อมต่อ MyCustomer API ผลักดันการใช้งานและเสริมประสิทธิภาพ LINE SHOPPING API และการใช้งาน Mini App ช่วยให้แบรนด์ ร้านค้าต่างๆ รวมถึงนักพัฒนาในไทยสามารถใช้เทคโนโลยีบน LINE สร้างการเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้นได้ในอนาคตระยะยาว
ทั้งหมดนี้คือโร้ดแมปและทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มของ LINE ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนธุรกิจยุคใหม่ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอน พร้อมเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาตอบโจทย์ให้เหมาะสม
เพราะนั่นคือกุญแจสำคัญในการเดินหน้าต่อไป LINE มุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจไทย ด้วยบทบาทของแพลตฟอร์มที่พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือการเก็บ บริหารจัดการดาต้าและเทคโนโลยีมากมาย ช่วยให้แบรนด์ปรับตัว ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที
พร้อมเปิดกว้างสำหรับการร่วมมือกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี ร่วมกันสร้างระบบนิเวศของธุรกิจดิจิทัลให้หมุนเวียนไปอย่างมั่นคง ผู้สนใจงาน Thailand NOW & NEXT สามารถติดตามรับชมงานย้อนหลังผ่านทาง YT: LINE for Business ได้เร็วๆ นี้
#ThailandNowandNext #LINEforBusiness