บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอบคุณนักลงทุนทุกกลุ่มที่เชื่อมั่นกับการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 1 ของโลกด้านดัชนีความยั่งยืน DJSI 2023 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
กระแสตอบรับล้นหลามมียอดจองซื้อเต็ม 7,000 ล้านบาทภายในระยะเวลาอันรวดเร็วจนต้องเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมอีก 3,500 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับ A+ และให้ผลตอบแทนดี รวมมูลค่าปิดการขายทั้งสิ้นจำนวน 10,500 ล้านบาท
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกกลุ่มที่เชื่อมั่นในศักยภาพและความน่าเชื่อถือของทรู และได้ให้ความไว้วางใจในการลงทุนกับหุ้นกู้ของทรู ชุดใหม่ ที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) เป็นครั้งแรกในปี 2567
ตลอดจนขอขอบคุณสถาบันการเงินผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 6 แห่งที่ให้ความสนับสนุนบริษัทด้วยดีเสมอมา ความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อกลุ่มทรู แม้สภาพเศรฐกิจทั่วโลกจะมีความผันผวน และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยเกิดความอ่อนไหวก็ตาม
โดยบริษัทสามารถปิดการเสนอขายหุ้นกู้ได้ครบ 7,000 ล้านบาทตามแผนทางการเงินที่วางไว้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีความต้องการเข้ามาอีกจำนวนมาก บริษัทจึงนำหุ้นกู้สำรอง (Greenshoe) เสนอขายเพิ่มเติมอีกจำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับ A+ โดยทริสเรทติ้งและให้ผลตอบแทนดี
และสามารถปิดการขายได้ครบ 10,500 ล้านบาท ตามจำนวนที่ได้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้ โดยเราจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ ไปใช้ในการชําระคืนหนี้หุ้นกู้ ตลอดจนสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการเติบโตของบริษัทต่อไป”
ทั้งนี้หุ้นกู้ทรูที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวนทั้งสิ้น 5 ชุด อายุหุ้นกู้ระหว่าง 1 ปี 3 เดือนถึง 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.15 ถึงร้อยละ 4.60 ต่อปี
โดยได้เปิดจองซื้อไปเมื่อวันที่ 26-30 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด