คลังเก็บ

กลุ่มทรูเผย EBITDA ไตรมาส 3 โตร้อยละ 8 ฐานลูกค้า 5G โตขึ้นเป็น 1.5 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของลูกค้ารายเดือน

กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้รวมจำนวน 32,966 ล้านบาทและรายได้จากการให้บริการจำนวน 26,187 ล้านบาทในไตรมาสสามของปี 2564 ลดลงร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน ผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ทำให้ฐานผู้ใช้งานบางส่วนย้ายจากในเมืองไปสู่นอกเมืองชั่วคราว 

อย่างไรก็ตาม  ฐานผู้ใช้บริการกลุ่มทรูในไตรมาส 3 ยังคงเติบโตต่อเนื่องทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีฐานลูกค้า 5G เพิ่ม 5 แสนราย บรอดแบนด์เพิ่ม 1.35 แสนรายสูงสุดในอุตสาหกรรม และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทรูไอดี เพิ่ม 5 แสนราย ขณะที่การบริหารต้นทุนทั่วทั้งองค์กรยังคงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลบวกต่อเนื่อง

โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหลักลดลงร้อยละ 8 ผลักดันให้ EBITDA เติบโตร้อยละ 8 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน เป็น 14,366 ล้านบาท มี margin ต่อรายได้จากการให้บริการที่เติบโต เป็นร้อยละ 55 เทียบกับร้อยละ 50 ในปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 2,939 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2564

กลุ่มทรู เดินหน้าสู่การเป็นเทคคอมปานี ที่นำดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในทุกภาคส่วน ผลักดันด้วยเทคโนโลยี AI และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทำให้มีการปรับกระบวนการให้ตอบรับกับความต้องการของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงสภาวะตลาดและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น 

อีกทั้งจุดแข็งของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลพร้อมคอนเทนต์ยอดนิยมครบครันอย่างทรูไอดี ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 26 ล้านรายต่อเดือน กล่อง OTT ทรูไอดีทีวี 3 ล้านกล่อง ควบคู่ไปกับบริการด้านดิจิทัล IoT และ โซลูชันทันสมัยแบบครบวงจรสำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้รายได้เติบโตต่อเนื่องร้อยละ 33 จากปีก่อน

ระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจรเหล่านี้ สร้างความแตกต่างและจะเป็นปัจจัยสำคัญให้กลุ่มทรูสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป ในขณะเดียวกัน ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะช่วยปรับโครงสร้างต้นทุน เพิ่ม productivity ทำให้การบริหารค่าใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพการขายและบริการ ด้วยการใช้ดาต้ามาพัฒนาและนำเสนอบริการได้ตรงจุด เพิ่ม engagement และความสะดวกให้กับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล e-commerce เพิ่มเติมจากช่องทางของพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ

True

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19” ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องเผชิญกับความท้าทายและเร่งปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมาก

ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้น กลุ่มทรูมองเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้องค์กรเข้าสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ทั้งเรื่องการเติมเต็มเสริมช่องทางดิจิทัล ออนไลน์ หรือ e-commerce ในช่วงที่ต้องปิดให้บริการช็อปชั่วคราว ทำให้เพิ่มความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรม ขยายระบบนิเวศและแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ

ขณะเดียวกันก็เร่งเสริมความแข็งแกร่งลงทุนด้านเครือข่ายสื่อสารทั้งโมบายล์และออนไลน์เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มมากชึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสจากความท้าทายเหล่านี้ทำให้มีสัญญาณเชิงบวกกับธุรกิจหลักของกลุ่มทรูที่สามารถขยายฐานลูกค้าได้ต่อเนื่องในไตรมาส 3 ทั้งมือถือ บรอดแบนด์และดิจิทัล อีกทั้งยังมีแนวโน้มเห็นผลที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นในหลายด้าน รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา

นอกจากนี้ เราได้เห็นผลบวกที่ชัดเจนมากขึ้นจากการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีช่องทางครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน ยังได้ขยายความร่วมมือไปในภาคธุรกิจ นำบริการด้านดิจิทัล IoT และ 5G พร้อมโซลูชันทันสมัยแบบครบวงจรมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งและการเดินหน้าเป็นองค์กรเทคคอมปานีของกลุ่มทรูที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมร่วมสร้างคุณค่าเพิ่มผ่านระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจรอย่างไม่หยุดนิ่ง จะสร้างความแตกต่างให้กลุ่มทรูสามารถมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคและสนับสนุนให้ลูกค้าองค์กรเติบโตและประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับยุคดิจิทัลได้อย่างแน่นอน”

นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มทรู ยังคงมีพัฒนาการเชิงบวกและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุนได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ EBITDA และ margin ยังคงเติบโตจากปีก่อน ท่ามกลางความท้าทายหลายอย่างจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นในไตรมาสสาม

ในขณะที่ การเดินหน้าขยายเครือข่ายโทรคมนาคมโดยเฉพาะ 5G ที่ครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ รวมถึงการตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ยังคงกระทบต่อผลกำไรของบริษัทในระหว่างไตรมาส อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ผ่านจุดการลงทุนที่สูงที่สุดไปแล้ว มีเครือข่ายและแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง พร้อมอย่างเต็มที่ในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าว อีกทั้งจะเดินหน้าปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างผลกำไรที่เติบโตได้อย่างยั่นยืน”

ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 19,759 ล้านบาท ในไตรมาส 3 หนุนโดยผู้ใช้งาน 5G ที่เติบโตสูงกว่าร้อยละ 50 จากไตรมาสก่อน เป็นประมาณ 1.5 ล้านราย ทำให้ฐานลูกค้ารวมของทรูมูฟ เอช เพิ่มขึ้นเป็น 32.0 ล้านราย แบ่งเป็นบนระบบเติมเงิน 21.2 ล้านราย และระบบรายเดือน 10.8 ล้านราย โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งาน 5G ต่อผู้ใช้บริการระบบรายเดือนที่สูงสุดในอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 14 การเติบโตที่สูงนี้เป็นผลมากจากความไม่หยุดนิ่งในการขยายและให้บริการด้วยเครือข่ายคุณภาพที่เหนือกว่า

โดยเครือข่าย 5G ของทรูมูฟ เอช ครอบคลุมทุก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ครอบคลุมแล้วมากกว่าร้อยละ 98 ของประชากร พร้อมผลตอบรับที่ดีต่อแคมเปญร่วมกับดีไวซ์ 5G ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานดาต้าด้วยความเร็วสูงของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ทรูมูฟ เอช ยังเดินหน้าขยายพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้ผสานความร่วมมือกับ TikTok ดึงศักยภาพ True 5G XR Studio ผสานจุดแข็งกองทัพ KOLs ตัวท็อปจาก TikTok สร้างสรรค์ “True 5G Presents TikTok Game Night” เกมโชว์ในรูปแบบ Virtual ครั้งแรกในไทย อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ Nonvoice Alive ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน 5G และเทคโนโลยี AR เสมือนจริงจากอเมริกา สร้างสรรค์บริการ “True 5G Innovative Cloud AR with Nonvoice Alive” ศูนย์รวมแอปพลิเคชัน 5G AR ระดับโลก พร้อมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าทรู

ในขณะเดียวกัน ทรูมูฟ เอช เดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยบริการ 5G และโซลูชันสำหรับภาคธุรกิจซึ่งมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมาก และได้เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์สำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ Smart Factory ที่ติดตั้งแบบ Private Network, Smart Hospital ผ่านแพลตฟอร์ม 5G MEC (Multi-Access Edge Computing) และ Smart Farm ด้วยการใช้
โดรน รวมถึงการร่วมสนับสนุนการเปิดประเทศด้วยการนำร่องบริการ 5G และโซลูชัน เพื่อให้เกิดสมาร์ทซิตี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่ภูเก็ต

ทรูออนไลน์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ด้วยฐานลูกค้า 4.5 ล้านราย เพิ่มฐานผู้ใช้บริการได้ แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 135,000 ราย ในไตรมาส 3 ปี 2564 ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์เติบโตร้อยละ 9.5 จากไตรมาส 3 ของปีก่อนและร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 7,479 ล้านบาท ผลักดันการเติบโตของตลาดบรอดแบนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเชื่อมต่อและทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ทรูออนไลน์ มุ่งเน้นในการยกระดับสินค้าและคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุกกระบวนการ โดยไม่หยุดนิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโครงข่ายไฟเบอร์ FTTx ควบคู่ไปกับการนำเสนอนวัตกรรมดีไวซ์ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงและคุณภาพสัญญาณที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ได้นำวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาใช้ในการบำรุงรักษาเชิงรุก

รวมถึงการันตีบริการติดตั้งไวอย่างมีคุณภาพ พร้อมดูแลแก้ปัญหาโดยช่างผู้เชี่ยวชาญได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าทำธุรกรรมและเช็คสถานะได้ง่ายๆ ผ่านแอปทรูไอเซอร์วิส อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าผ่านสิทธิประโยชน์หลากหลายและการรับชมคอนเทนต์เวิลด์คลาสจากทรูไอดีและทรูวิชั่นส์ สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับทรูออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง เสริมจุดแข็งในฐานะผู้นำในการให้บริการบรอดแบนด์ผสานกับคอนเทนต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ดีที่สุด เน้นตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ 

ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,406 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2564 ท่ามกลางผลกระทบต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและวิกฤต COVID-19 โดยรายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์ยังคงเป็นรายได้หลักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.4 ของรายได้จากการให้บริการ

ทรูวิชั่นส์ มีฐานลูกค้ารวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านราย และยังคงเดินหน้าสรรหาคอนเทนต์ยอดนิยมที่หลากหลายจากทั่วโลก ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านคอนเทนต์โดยเฉพาะคอนเทนต์กีฬาอย่าง EPL และ BeIn เพื่อตอบสนองทุกความต้องการรับชมของลูกค้าในทุกกลุ่ม ซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านทุกแพลตฟอร์มของกลุ่มทรูไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และกล่อง OTT ตอบโจทย์ความต้องการรับชมคอนเทนต์ผ่านช่องทางดิจิทัลและ OTT ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มความพึงพอใจและประสบการณ์การรับชมให้กับลูกค้านอกเหนือจากการรับชมผ่านโทรทัศน์แบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว 

ทั้งนี้ TrueVisions NOW บริการในรูปแบบคอนเทนต์สตรีมมิ่งบนหลายแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมคอนเทนต์คุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมบริการรับชมย้อนหลังได้นานถึง 7 วัน ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวภายหลังการเปิดประเทศในไตรมาส 4 น่าจะช่วยหนุนรายได้ของทรูวิชั่นส์ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล พร้อมบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เดินหน้าขยายระบบนิเวศและพันธมิตรในไตรมาส 3 ปี 2564 ส่งผลให้รายได้เติบโตสูงในอัตราเลขสองหลักได้อย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มลูกค้าบุคคลและองค์กร โดยแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล ทรูไอดี ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนกว่า 26 ล้านคน เสริมความแข็งแกร่งของบริการและคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและจำนวนผู้ใช้งาน เปิดตัวแอปพลิเคชันโฉมใหม่ที่สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น

พร้อมคอนเทนต์พิเศษเฉพาะบนทรูไอดี ทำให้มียอดรับชมคอนเทนต์วีดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 417 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งเติบโตร้อยละ 71 และร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 และไตรมาส 2 ปี 2564 ตามลำดับ อีกทั้งมีจำนวนการซื้อคอนเทนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 และร้อยละ 40 จากไตรมาสก่อน เป็น 519,000 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ทรูไอดี ทีวี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมียอดสูงถึง 3.0 ล้านกล่อง สำหรับด้านลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน มีรายได้เติบโตสูงร้อยละ 33 จากไตรมาส 3 ปี 2563 และร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีการเปิดตัวบริการ ทรู โกรว อย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรในการจัดการระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกโลตัสก็ได้นำระบบ True Smart Energy Management ไปใช้งาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ด้วยความสามารถในการติดตามการใช้พลังงานและแจ้งเตือนหากพบการทำงานที่ผิดปกติของระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ เคอี กรุ๊ป อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนานวัตกรรมระบบรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลด้านการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการนำไปทดลองใช้ที่ศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานในเครือ เช่น กล้อง CCTV ที่จอดรถและห้องประชุมอัจฉริยะ เป็นต้น