กลุ่มทรู รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้รวม 35,138 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 25,903 ล้านบาท โดยการแพร่ระบาดโอมิครอนระหว่างไตรมาสและความกังวลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้รายได้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงร้อยละ 2 ขณะที่ทรูมูฟ เอช ลดลงเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดีกว่าผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามด้วยมาตรการบริหารต้นทุนที่รัดกุมและเพิ่มประสิทธิภาพต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายยังคงลดลง (ลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาส 1 ของปีก่อน และร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน)
ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ทรงตัว (+0.1%) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ 14,074 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไร EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการ (EBITDA margin) ที่ร้อยละ 54 ในไตรมาส 1 ปี 2565
ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงขึ้นจากการเร่งขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้บริการสูงสุดให้กับผู้บริโภค รวมถึงขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน กดดันความสามารถในการทำกำไรในไตรมาสแรกของปี 2565
กลุ่มทรู เดินหน้าสร้างมาตรฐานโครงข่ายโทรคมนาคมและดิจิทัลที่เหนือกว่า พร้อมเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้กับลูกค้าด้วยการดูแลลูกค้าแบบเชิงรุกทั้งก่อนและหลังการขายอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้นำศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ทั้งการนำเสนอสินค้าและบริการแบบเฉพาะเจาะจง (personalization) ให้ตรงใจทุกเจนเนอเรชั่นมากที่สุด ด้วยช่องทางที่ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และบริการสินเชื่อทางการเงินในการซื้อสินค้า
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มทรู ยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า เทคโนโลยีบล็อกเชน คลาวด์ Internet of Things (IoT) และหุ่นยนต์ เร่งการเติบโตกลุ่มธุรกิจดิจิทัลใหม่ รวมถึงการลงทุนและสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กลุ่มทรูนำหน้าอุตสาหกรรมไปอีกขั้น อันจะนำไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคดิจิทัลใหม่อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างคุณค่าแก่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในขณะเดียวกัน
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปี 2565 นับเป็นอีก 1 ปีที่สำคัญของกลุ่มทรูในการต่อยอดสู่การเป็นเทคคอมปานีอย่างเต็มตัว ทั้งการเสริมศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะ 5G และไฟเบอร์ นำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันดิจิทัลที่ครอบคลุมหลากหลายไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าและภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งการขยายระบบนิเวศและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างช่องทางการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ ด้วยตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการให้บริการที่สมบูรณ์ในยุคดิจิทัลและจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความโดดเด่นและเหนือกว่ายิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีการนำศักยภาพการวิเคราะห์เชิงลึกผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัยของกลุ่มทรู และการจัดกลุ่มลูกค้าด้วยระบบฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อสร้างความแตกต่างให้ลูกค้ากลุ่มทรูได้รับสิทธิพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง (personalization) ตรงใจแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริการอื่นๆ ที่รวดเร็วและเหนือความคาดหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มทรูได้อย่างเข้มแข็งและสร้างรายได้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลงและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลต่อความกังวลในทุกภาคส่วน และกดดันผลประกอบการของหลายอุตสาหกรรมรวมถึงโทรคมนาคม ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงอีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องเผชิญและก้าวผ่านให้ได้เช่นเดียวกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่กลุ่มทรูได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยความทุ่มเทพัฒนาองค์กรให้พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง ผนึกกำลังเต็มความสามารถเพื่อสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ใช้บริการ สนับสนุนองค์กรต่างๆ และประเทศไทยมาโดยตลอด”
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ยังคงชะลอตัวและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค มีผลต่อ ARPU และรายได้ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาส 1 ปี 2565 อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มทรูสามารถรักษา EBITDA ไว้ที่ระดับ 14,074 ล้านบาท
ในขณะที่ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นตามการขยายและเพิ่มคุณภาพโครงข่าย 5G ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี อย่างไรก็ตาม ความทุ่มเทของพนักงานทุกคนในบริษัทเพื่อปรับโครงสร้างต้นทุนและองค์กรให้ตอบรับกับความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มทรูเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ Stakeholder ของกลุ่มทรู”
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ประกอบกับการแข่งขันในตลาด กดดันรายได้จากการให้บริการและ ARPU ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรูมูฟ เอช มีรายได้จากการให้บริการ 19,676 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีฐานผู้ใช้บริการ 5G ที่เติบโตแข็งแกร่งเป็น 2.6 ล้านราย ส่งผลให้ทรูมูฟ เอช มีฐานผู้ใช้บริการรวม 32.6 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการแบบรายเดือน 11.2 ล้านรายและผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน 21.4 ล้านราย
ฐานลูกค้าที่เติบโตแข็งแกร่งนี้เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่าย 5G และการเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า สร้างมูลค่าเพิ่มทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเพลิดเพลินไปกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดื่มด่ำกับประสบการณ์การรับชมคอนเทนต์ 5G อัจฉริยะเสมือนจริงกว่า 200 คอนเทนต์ในรูปแบบ XR/VR ผ่านแพ็กเกจ True 5G Xclusive และการให้บริการสินเชื่อทางการเงินผ่านบริการ “True Pay Next” ผนึกกำลังกับ Ascend Nano
นอกจากนี้ ด้วยความโดดเด่นด้านนวัตกรรมโซลูชันที่กลุ่มทรูพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าองค์กรในฐานะผู้นำที่เป็น First Mover 5G สามารถขยายระบบนิเวศ 5G ไปในอุตสาหกรรมพลังงาน
โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท บี.กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“BGRIM”) ในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน อันจะนำไปสู่การสร้างอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต
ทรูออนไลน์ มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 90,100 รายในไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายฐานผู้ใช้บริการรวมเป็นทั้งสิ้น 4.7 ล้านราย รายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์อยู่ที่ 7,318 ล้านบาท ขณะที่ ARPU ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม
การได้รับรางวัล “สุดยอดแบรนด์ของโลกแห่งปี 2021-2022” สาขาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จาก World Branding Forum ประเทศอังกฤษ เป็นสมัยที่ 5 ติดกัน สะท้อนความมุ่งมั่นทุ่มเทของทรูออนไลน์ ในการยกระดับมาตรฐานใหม่สำหรับบริการบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ใช้บริการเน็ตบ้านที่มีคุณภาพเทียบชั้นมาตรฐานโลก
พร้อมยกระดับการดูแลลูกค้าครบทุกด้านทั้งการติดตั้งและแก้ปัญหาฉับไวใน 24 ชั่วโมง ด้วยช่างผู้เชี่ยวชาญ และระบบ AI ตอกย้ำความเป็นผู้นำเน็ตบ้านไฟเบอร์ อันดับ 1 ของคนไทย ทรูออนไลน์ จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานใหม่ให้ตลาดบรอดแบนด์ ด้วยนวัตกรรมสินค้าและข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านอัจฉริยะ ผสานไอโอที ดีไวซ์และคอนเทนต์ความบันเทิง ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตที่เพิ่มขึ้นให้กับทรูออนไลน์ต่อไป
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,378 ล้านบาท ท่ามกลางความนิยมในการรับชมสตรีมมิ่งคอนเทนต์และผ่านแพลตฟอร์ม OTT ที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ดีจากการกลับมาสมัครใช้บริการทรูวิชั่นส์อย่างต่อเนื่องในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร
ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์จะมุ่งสร้างการเติบโตด้วย TrueVisions NOW บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่ลูกค้าสามารถรับชมคอนเทนต์คุณภาพได้ทุกเวลา พร้อมการผนึกกำลังกับทรูไอดี แพลตฟอร์มดิจิทัล ในการนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพสุดเอ็กซ์คลูซีฟ โดยเฉพาะคอนเทนต์กีฬา ซีรีส์เอเชีย และคอนเทนต์ระดับโลกยอดนิยมอีกมากมาย รวมถึงจะมุ่งเพิ่มประสบการณ์การรับชมและใช้งานของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน TrueVisions NOW ให้ดียิ่งขึ้น ตอบรับกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัลนี้
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง โดยแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลทรูไอดี มุ่งเน้นเพิ่มความหลากหลายด้านความบันเทิงด้วยคอนเทนต์กีฬาและซีรีส์จำนวนมาก ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ทรูไอดีมีรายได้เติบโตถึงร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
หนุนโดยจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนกว่า 30 ล้านราย มียอดรับชมคอนเทนต์วีดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 93 เป็น 459 ล้านครั้ง และจำนวนการซื้อคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 75 เป็น 760,000 ครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อน นอกจากนี้ ลูกค้ากล่องทรูไอดี ทีวี เติบโตต่อเนื่องเป็น 3.2 ล้านกล่อง
ขณะเดียวกัน ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันทรูไอดีสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
สำหรับธุรกิจดิจิทัลโซลูชันมีการเติบโตอย่างมาก จากนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ (Smart Living) การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Connectivity) และตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) อีกทั้งยังขยายธุรกิจ Digital Guest Solution ได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ของธุรกิจดิจิทัลโซลูชันเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564
นอกจากนี้ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ได้เปลี่ยนชื่อและปรับโฉมแอปพลิเคชัน “ทรู เฮลท์” เป็นแอปพลิเคชัน “หมอดี” โดยมีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าหลังจากการปรับโฉมใหม่นี้