True 5G มุ่งนำอัจฉริยภาพเครือข่าย 5G ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย เดินหน้าสร้างระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem) ภายใต้แนวคิด True 5G Innovation Community ส่งเสริม 3 แกนหลักผลักดันการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G สร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยและประเทศไทย
ทั้ง True 5G Worldtech X การเปิดพื้นที่แสดงนวัตกรรม 5G, True 5G Tech Talk เวทีสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย และสนับสนุนสตาร์ทอัพสู่วงการ 5G ผ่าน True 5G Tech Sandbox
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงเป้าหมายของ True 5G ในเวลานี้ คือการส่งเสริมให้คนไทยสามารถนำอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ คุณภาพชีวิต, เมืองอัจฉริยะ, การศึกษา, การค้าปลีก, เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการผลิต ไปใช้สร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อคนไทย และประเทศไทย
“ภารกิจของ True 5G ในเวลานี้ คือ การสร้างระบบนิเวศของ 5G ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศคือ การสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่สร้างอินโนเวชันใหม่ๆ ของ 5G ทรูจึงสร้างให้เกิด True 5G Innovation Community นี้ขึ้นมา”
เมืองอัจฉริยะขับเคลื่อนโดย 5G
ล่าสุด ภายในงาน True 5G Innovation Community ได้เปิดเวทีสัมมนา 5G พลิกโฉมประเทศไทย True 5G Tech Talk ครั้งที่ 6 หัวข้อ Intelligent City & Security แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านบริหารจัดการระบบเมืองและอาคาร จากทั้งในไทยและต่างประเทศ มาให้ความรู้ถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 5G ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาชีวิตของผู้คนในเมือง รวมถึงแนวทาง และโอกาสของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ
นายปภิณวิช เจนโกศล Senior Technical Trainer & Solution Consultant HUAWEI กล่าวว่า ในเรื่องของธุรกิจแต่ละภาคอุตสาหกรรมจะมีความต้องการที่แตกต่างจากผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่ง 5G ได้เข้ามาตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความเร็ว (Speed) ความหน่วงต่ำ (Latency) และจำนวนของการเชื่อมต่อ (Connection) ที่ภาคธุรกิจต้องการสิ่งเหล่านี้มาเติมเต็ม
“สิ่งที่ทางผู้ให้บริการโครงข่ายสามารถทำได้คือ การนำโครงสร้าง 5G ที่มีศักยภาพไปประกอบร่างกับอะไรสักอย่างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทภาคอุตสาหกรรม จนถึงผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้สามารถทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันได้อย่างทันท่วงที”
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) หรือศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย คอวลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวถึงแนวทางในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Intelligent City) จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือต้องเป็นเมืองที่ฉลาด (Intelligent) ในแง่ของการใช้ข้อมูล ตามด้วยเมืองที่สร้างแล้วผู้ที่อาศัยต้องมีความสุข (Happy City) และเป็นเมืองที่สามารถปรับตัวได้ (Resilience City) เพื่อรับกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคต
“ในการสร้างเมืองเราไม่สามารถใช้โจทย์ หรือสมมุติฐานจากความต้องการในปัจจุบัน เพราะเมืองจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจงานในฝันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจมองถึงการสร้างตัวตนในโลกเสมือน หรือเมตาเวิร์ส ทำให้ตรงนี้ 5G จะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะต้องเชื่อมโยงโลกที่จับต้องได้ทางกายภาพกับโลกเสมือนอย่างไร้รอยต่อ”
การที่จะเกิดเมืองอัจฉริยะได้ ‘ความร่วมมือ’ จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมกันไป ภาครัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสใหม่ ปลดล็อกอุปสรรค เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์และเงินทุนจะเข้ามาช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ กลุ่มสตาร์ทอัพที่มีความมุ่งมั่น เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และภาคประชาชนที่จะช่วยกันออกแบบเมืองอัจฉริยะที่ทุกคนต้องการเป็นแบบไหน
นายธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G กันอย่างมหาศาล เพื่อให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั่วประเทศ การที่จะนำเครือข่าย 5G มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ถ้าทุกภาคส่วนมองเห็นโอกาสตรงนี้ และเข้ามาร่วมกันก็จะเริ่มเปลี่ยนจากสมาร์ทโฮมสู่สมาร์ทซิตี้ ขยับขึ้นไปเป็นสมาร์ทโพรวินซ์ และสมาร์ทเนชั่นในท้ายที่สุด
Mr.David Goh, Vice President APAC Region at PTV ผู้ให้บริการโซลูชันด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนตัวในเมืองอัจฉริยะว่า จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการเก็บข้อมูลไปใช้ในลักษณะของข้อมูลนิรนาม (Anonymous Data) ที่ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
ส่งเสริมสตาร์ทอัพ สร้าง 5G Ecosystem
นอกเหนือจากการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองจากการสัมมนาแล้ว True 5G ยังสนับสนุนเทคสตาร์ทอัพ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ 5G ครบวงจร ผ่านโครงการ True 5G Tech Sandbox โดยคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและผลงานนวัตกรรมโดดเด่นเข้าโปรแกรม Sandbox ซึ่งสตาร์ทอัพทั้ง 4 ทีม มีการนำเทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับ 4 ทีมสตาร์ทอัพที่คว้ารางวัลในโครงการ True 5G Tech Sandbox ประกอบไปด้วย
รางวัลที่ 1 ทีม We Chef
พัฒนาแพลตฟอร์มวางแผนและบริหารช่องทางการขายสำหรับรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่
รางวัลที่ 2 ทีม Altotech
สตาร์ทอัพด้านการจัดการพลังงาน ที่คิดค้นนวัตกรรมในการควบคุมการใช้พลังงานในอาคารได้แบบเรียลไทม์
รางวัลที่ 3 ทีม CentroVision
คิดค้นโซลูชันในการสำรวจโครงสร้างตึกสูง ด้วยอากาศยานไร้คนขับ สำหรับตรวจสอบ วิเคราะห์โครงสร้างอาคารด้วยเทคโนโลยี AI
รางวัลที่ 4 ทีมเก้าไร่
แพลตฟอร์มจองโดรนเพื่อการเกษตรสำหรับงานฉีดพ่น เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรในไทย
โดยทั้ง 4 ทีม ได้มีการนำเทคโนโลยี 5G เชื่อมต่อแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เข้ากับเครือข่าย True 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลเพื่อประมวลผล ตลอดจนควบคุมและสั่งการอุปกรณ์และระบบต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับกลุ่มผู้ใช้งาน พร้อมมีแผนในการต่อยอดนำข้อมูลขึ้นไปประมวลผลด้วย AI ผ่าน Cloud Computing เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแก่ธุรกิจได้ ซึ่งถือเป็นการนำจุดเด่นของ True 5G ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทยมาใช้งานได้ตรงจุด
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะเห็นได้ว่าภายใน ‘True 5G Innovation Community’ ประกอบไปด้วย 3 แกนหลักด้วยกันคือเรื่องของ
1.โชว์เคส (Tech Show) ที่ชื่อว่า True 5G Worldtech X โชว์นวัตกรรม 5G และยูสเคสต่างๆ ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูงานและสัมผัสประสบการณ์จริง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้เลย
2. การให้ความรู้ (Tech Talk) ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถนำไอเดียไปต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา
3. การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ด้วยโครงการ 5G Tech Sandbox ที่จะบ่มเพาะและสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดธุรกิจ
เมื่อรวมทั้ง 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้เกิด True 5G Innovation Community ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อน 5G Ecosystem ในประเทศไทยได้ต่อไป