บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ประกาศความสำเร็จของโครงการ reBOX ตลอด 4 ปี มีกล่อง ซอง และกระดาษไม่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 530,000 กิโลกรัม
โดยในปี 2566 สามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษได้มากกว่า 137,000 กิโลกรัม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 776.44 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
พร้อมเผยแนวทางการลงทุน และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนผ่านแนวคิด ESG+E ที่จะดำเนินงานใน 4 มิติได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment : E) ด้านสังคม (Social : S) ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance : G) และด้านเศรษฐกิจ (Economy : E)
อาทิ การพัฒนาระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน การสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร นอกจากนี้ ยังเตรียมใช้พื้นที่ที่ทำการไปรษณีย์ เปิด “Green Hub” ตั้งจุดรับรวบรวมวัสดุประเภทต่าง ๆ เพื่อนำเข้าสู่การจัดการอย่างถูกวิธี เช่น e-Waste การรับบริจาคอะลูมิเนียม ฯลฯ
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยว่า ไปรษณีย์ไทยมีแผนการลงทุน และกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจขนส่งของไปรษณีย์ไทย ตามวิสัยทัศน์ใหม่คือ ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ : Delivering Sustainable Growth Through Postal Network
โดยได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนตามกลยุทธ์ ESG+E เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2567-2571 ผ่านแนวทาง 4 ด้าน ประกอบด้วย
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment : E) โดยพัฒนาระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงานและคาดว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 30% ภายในปี 2573 เพิ่มการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น กล่อง ซอง พลาสติกกันกระแทกเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ และอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนในรถยนต์ขนส่ง รวมทั้งพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือกกับพันธมิตร
ด้านสังคม (Social : S) สนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าตัวท็อปจากทั่วประเทศมาจำหน่ายและส่งตรงถึงผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์ม Thailandpostmart และไปรษณีย์ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560 ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการ “ไปรษณีย์เชื่อมสุข” สนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน จำหน่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศและเว็บไซต์ Thailandpostmart โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนรวมกว่า 33 ล้านบาท รวม 17 จังหวัด 23 พื้นที่
ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance : G) มุ่งเน้นการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม รักษาและปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ด้านเศรษฐกิจ (Economy : E)มุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และชีวิตดิจิทัลที่มีความปลอดภัยมากขึ้น
โดยการขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น Postman Cloud ให้บริการกับลูกค้า พันธมิตรที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (Postman Networking) หรือบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ Prompt Post บริการด้านการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร และ Digital Post ID การปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่อยู่แบบเดิม ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล (Digital Address) รวมถึงการจัดส่งสิ่งของในรูปแบบจ่าหน้า QR CODE เป็นต้น
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังตั้งเป้าหมายสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ.2593 ตามเป้าหมายระยะยาวของไทย ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608
ส่วนในระยะเร่งด่วนนี้ ไปรษณีย์ไทยได้เร่งปรับปรุงระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงานตั้งแต่กระบวนการรับฝากจนถึงการนำจ่าย เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ จากการปรับปรุงระบบงานนำจ่าย ให้เป็นแบบรวมทุกบริการเพื่อลดการทับซ้อนของเส้นทางนำจ่าย และการปรับรวมสายขนส่งไปรษณีย์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้มากกว่า 35%
ดร.วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้ขับเคลื่อนความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ reBOX มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สามารถส่งคืนกล่องและซองกระดาษที่ไม่ใช้แล้วรวมกว่า 530,000 กิโลกรัมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีโดย บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ SCGP
และในปี 2566 ไปรษณีย์ไทยสามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษจากทุกภาคส่วนได้มากกว่า 137,000 กิโลกรัม นำไปรีไซเคิลภายใต้แนวคิด “กล่องรักที่สัมผัสได้” ซึ่งเป็นสิ่งของจำเป็นเพื่อผู้พิการ มอบให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมประชาคมคนตาบอดไทย และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
โดยจากกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าวช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 776.44 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจากความสำเร็จดังกล่าวไปรษณีย์ไทยขอขอบคุณคนไทย หน่วยงานพันธมิตร 68 องค์กรจากภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ที่ร่วมส่งกล่อง/ซองที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้งตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย ตลอดจนเป็นการสร้างเส้นทางการเดินทางของกระดาษเหลือใช้จากเดิมที่เป็นเพียงการซื้อขาย การกำจัดที่ยังไม่ถูกวิธี ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเป็นศูนย์กลางในด้านการจัดการขยะหลากประเภทภายใต้โครงการ “Green Hub” ที่จะร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้พื้นที่ของที่ทำการไปรษณีย์ตั้งจุดรับรวบรวมวัสดุประเภทต่าง ๆ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการ/ แปรรูปได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์
โดยประกอบด้วยแคมเปญ reBOX ที่เป็นโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าจากกล่องซอง โครงการ e-Waste ร่วมกับ AIS รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้แล้ว ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ รับบริจาคอะลูมิเนียมเพื่อจัดทำขาเทียมพระราชทาน
โครงการ “วน” ที่รับพลาสติกยืด เช่น ซองพลาสติกไปรษณีย์ ถุงพลาสติกหูหิ้ว จาก บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด หรือ (TPBI) เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ใน ธุรกิจไปรษณีย์ เช่น พาเลทผลไม้
ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.thailandpost.co.th
เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
X : @Thailand_Post
ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post
ติ๊กต็อก : @thailandpostchannel