บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เดินหน้ากระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ พร้อมเสริมโอกาสผู้ประกอบการไทย ลุยโซลูชันเพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกิจบน 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ได้แก่ อเมซอน (Amazon) และอีเบย์ (eBAY)
โดยในไตรมาส 4 ปีนี้ เตรียมเปิดบริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA (Fulfillment by Amazon) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ Amazon.com ผ่านการจัดเก็บสินค้าเข้าคลัง ดำเนินพิธีการศุลกากร และนำส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA เพื่อกระจายสินค้าของยังตลาดสหรัฐอเมริกา
พร้อมด้วยบริการจัดทำจ่าหน้าบริการระหว่างประเทศผ่าน eBay CpaSS ให้สามารถจัดเตรียมจ่าหน้าก่อนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยมีแผนสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากการใช้เครือข่ายขนส่งสินค้าไปยังปลายทางต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว
ล่าสุดยังได้มีการดำเนินความร่วมมือกับ 2 แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน (Amazon) และอีเบย์ (eBAY) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายสินค้าออนไลน์กระจายสินค้าไปยังปลายทางได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้เริ่มเปิดให้บริการใหม่ 2 ส่วนคือ บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA (Fulfillment by Amazon) ซึ่งเป็นบริการสำหรับผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ Amazon.com ที่ต้องการส่งสินค้าเข้าคลังก่อนส่งไปปลายทางสหรัฐอเมริกา
โดยที่ไปรษณีย์ไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้รับรวบรวมสินค้าที่ผู้ขายสินค้าของ Amazon พร้อมขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ดำเนินพิธีการศุลกากร และนำส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA ของสหรัฐอเมริกา เพื่อกระจายสินค้าของผู้ค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีไทยไปยังตลาดดังกล่าว
“บริการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA มีจุดเด่นคือช่วยอำนวยความสะดวกแบบ One stop service มีราคาที่เป็นมิตรกับผู้ขายทุกระดับ สามารถส่ง (Drop) สินค้าได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ รวมทั้งมีบริการรับฝาก ณ ที่อยู่ผู้ฝากส่ง (Pick Up Service) สามารถฝากส่งได้โดยไม่จำกัดน้ำหนัก
อีกทั้งยังตรวจสอบสถานะได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งการเปิดบริการดังกล่าวจะทำให้ผู้ค้าขายชาวไทยบนแพลตฟอร์มเกิดความสะดวก และมีทางเลือกในการใช้บริการคลังสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น
พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดจำนวนธุรกิจที่มีแผนขยายสินค้าไปยังช่องทางต่างประเทศ – ขยายตลาดใหม่ให้กับภาคธุรกิจไทยมีโอกาสแข่งขันมากกว่าทำการค้าภายในประเทศ และลดการแข่งขันกับบางแพลตฟอร์ม รวมทั้งช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการด้านคลังสินค้า”
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนอีกหนึ่งบริการคือ บริการจัดทำจ่าหน้าบริการระหว่างประเทศผ่าน eBay CpaSS ซึ่งเป็นบริการสำหรับผู้ขายสินค้า eBay ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ให้สามารถจัดการออร์เดอร์ – จัดส่งสินค้า (Fulfilment & Handling) ได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยไปรษณีย์ไทยจะออกบริการช่วยจัดทำจ่าหน้าบริการระหว่างประเทศกับผู้ขายให้สามารถจัดเตรียมจ่าหน้าก่อนใช้ 5 บริการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้แก่ บริการ EMS World บริการ ePacket บริการลงทะเบียนระหว่างประเทศ บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศทางอากาศ และบริการพัสดุย่อยทางอากาศ โดยจะดึงข้อมูลจากคำสั่งซื้อที่มีการชำระเงินแล้วมาสร้างจ่าหน้าโดยอัตโนมัติ
พร้อมด้วยเลข Tracking Number ทำให้ผู้ขายมีเวลาไปจัดการหน้าร้าน ทำให้การเตรียมของก่อนจัดส่งมีความรวดเร็วมากขึ้น ประหยัดเวลาในกระบวนการหลังบ้านได้มากกว่าเดิมและยังช่วยลดข้อผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลของผู้ซื้อได้อีกด้วย
“โซลูชันนี้ยังมีจุดเด่นคือคิดราคาค่าบริการตามน้ำหนักจริง แตกต่างจากในตลาดที่คิดค่าบริการตามขนาดสิ่งของ และไม่มีการเก็บเงินเพิ่ม เช่น ค่าภาษีเชื้อเพลิง ทำให้ผู้ขายคำนวณต้นทุนการขายได้แม่นยำ พร้อมด้วยจุดให้บริการในการฝากส่งสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งผู้ขายที่ใช้บริการนี้สามารถนำมาส่ง ณ ที่ทำการหรือบริการรับฝาก ณ ที่อยู่ผู้ฝากส่ง (Pick Up Service) ได้ทันที รวมทั้งมีรูปแบบการอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย ตรงกับทุกความต้องการธุรกิจ สามารถจัดส่งครอบคลุมทั่วโลกมากกว่า 95 ประเทศ 106 ปลายทาง”
ดร.ดนันท์ กล่าวเสริมว่า การค้าขายบนแพลตฟอร์มอเมซอนเป็นอีกโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเติบโตบนช่องทางการค้าต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอเมซอนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศชั้นนำ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย กลุ่มประเทศเหล่านี้ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านกำลังซื้อ จำนวนประชากรที่จะขยายตลาด และมีหมวดหมู่สินค้าที่เป็นที่ต้องการที่ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเติบโตได้
ในขณะที่ eBay ก็มีความน่าสนใจในด้านจำนวนผู้ซื้อทั่วโลกที่มากกว่าระดับร้อยล้านราย การเข้าถึงสินค้าที่ง่ายผ่านบนเว็บไซต์ รวมทั้งความโดดเด่นจากระบบประมูลเพื่อให้มีโอกาสขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น ทั้งนื้ การออกทั้ง 2 โซลูชันใหม่ของไปรษณีย์ไทยจะเป็นการช่วยในด้านความสะดวก การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการทำการค้า การเข้าถึงที่ง่ายของเครือข่ายไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งระบบการจัดการแบบครบวงจรโดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้
ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.thailandpost.co.th
เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
X : @Thailand_Post
ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post
ติ๊กต็อก : @thailandpostchannel