“เทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม” (Telenor Youth Forum) แพลทฟอร์มเครือข่ายผู้นำเยาวชนระดับสากลเพื่อเปลี่ยนโลกอย่างสร้างสรรค์ คัดเลือก 2 เยาวชนไทยไปนอร์เวย์ ร่วมระดมความคิด–หาทางออกประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างไม่สมดุล ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพและสาธารณสุขของผู้ด้อยโอกาสและคนชายขอบเป็นปัญหาระดับโลก ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงระบบการรักษาข้อมูลด้านสุขภาพ ตลอดจนการต่อสู้กับความหิวโหยและภาวะขาดสารอาหาร โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเด็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าได้รับถกเถียงอย่างกว้างขวาง และนี่จึงเป็นที่มาแนวคิดของการจัดงานเทเลนอร์ ยูธ ฟอรัมในปีนี้ โดยคาดหวังให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างสังคม รวมถึงก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในมนุษย์”
ในปีนี้ “เทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม” (Telenor Youth Forum หรือ TYF) ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 16 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ เดนมาร์ก มาเลเซีย เมียนมาร์ นอร์เวย์ ปากีสถาน สวีเดน และไทย ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับโจทย์เพื่อออกแบบกลยุทธ์และค้นหาวิธีการในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งในปีนี้มีเด็กจากประเทศไทย 2 คนที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นายเชิงชาย ตะโฉ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาวธนาภา อุครานันท์ เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ
“เราเชื่อว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเข้าถึงระบบการข้อมูลและการรักษาของผู้มีรายได้ต่ำและอาศัยในพื้นที่ห่างไกล จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการเชื่อมโยงศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยี ซึ่งเราเชื่อว่าผู้นำเยาวชนเหล่านี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อสันติภาพของโลก” นางอเล็กซานดรากล่าว
โดยในปีนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 17 คน จะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามประเด็นที่เกี่ยวกับการความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพและสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งในแต่ละทีมจะได้รับคำแนะนำและโค้ชชิ่งจากผู้เชี่ยวชาญของเทเลนอร์ กลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยักษ์ใหญ่ของโลก
ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้เข้าร่วมโครงการในแต่ละทีมระดมความคิดและนำเสนอตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมายแล้ว คณะกรรมการจะตัดสิน โดยทีมที่ชระเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 โครนนอร์เวย์ (ประมาณ 400,000 บาท) เพื่อนำไอเดียไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ ผลงานไอเดียของผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 ทีม จะได้รับการจัดแสดงในรูปแบบดิจิทัลที่ศูนย์สันติภาพโนเบลที่ประเทศนอร์เวย์อีกด้วย
“ศูนย์โนเบลสันติภาพได้ร่วมมือกับเทเลนอร์เป็นประจำทุกปีจัดโครงการเทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันเปลี่ยนแปลงโลกอย่างสร้างสรรค์ เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันด้านการส่งเสริมสันติภาพของโลก เราเชื่อว่าการส่งเสริมเยาวชนจะเป็นหนทางในการก้าวสู่สันติภาพแห่งอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารและเยาวชนจะช่วยเป็นตัวเร่งให้สันติภาพขึ้นในอนาคตได้” นางลิฟ ทอเรส ผู้อำนวยการศูนย์โนเบลสันติภาพ กล่าว
“เทเลนอร์ ยูธ ฟอรัม” เป็นแพลทฟอร์มเชื่อมโยงผู้นำเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์และสถาบันโนเบลสันติภาพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพของโลกผ่านการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งโครงการมีระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ที่นครออสโล ประเทศนอร์เวย์ ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย
เกี่ยวกับโครงการ Telenor Youth Forum
“เทเลอร์ ยูธ ฟอรัม” (Telenor Youth Forum) เป็นแพลทฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้นำเยาวชนระดับโลกเข้าด้วยกัน เพื่อระดมความคิดและหาทางออกกับปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN SDGs)