บมจ.สามารถดิจิตอล ประกาศรุกตลาดวิทยุสื่อสารระบบดิจิตอลเต็มตัว ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับ กสท. เพื่อให้บริการ Digital Trunked Radio System ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายระบบดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการ 50,000 -100,000 รายในสิ้นปี 61
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “กลุ่มบริษัทสามารถ ในนาม SISC Consortium ประกอบด้วย บมจ.สามารถดิจิตอล และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท.
ในโครงการ Digital Trunked Radio System เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและขยายโอกาสทางธุรกิจ ให้แก่บริการวิทยุสื่อสารคมนาคมระบบดิจิตอล หรือ DTRS ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นและตอบโจทย์ลูกค้ารายองค์กรจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน
สำหรับการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกสท.นี้ SISC Consortium มีภารกิจหลัก 2 ส่วน คือ การจัดหา วางระบบและติดตั้งอุปกรณ์ DTRS จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 สถานีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา ( 24 สิงหาคม 60 )
โดยจะเป็น Nationwide Digital Trunked Radio เครือข่ายแรก ที่มีรัศมีการสื่อสาร ครอบคลุมและกว้างไกลที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งมีหน้าที่ด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายเครื่องลูกข่าย Trunk Mobile ผ่านช่องทางต่างๆ โดยบริษัทฯ ได้คัดสรรและเลือกที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุสื่อสารแบรนด์ Motorola ซึ่งได้มาตรฐานและได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อันยาวนาน
Digital Trunked Radio System (DTRS) ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการสื่อสารแบบกลุ่ม (One-to-Many หรือ Group Call) ที่ต้องการความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ( Mission Critical) มีความเสถียรในการใช้งาน แม้ในยามเกิดภัยพิบัติ ซึ่งโครงข่ายการสื่อสารอาจล่มและใช้งานไม่ได้ตามปกติ
แต่เครื่องวิทยุสื่อสารยังคงติตต่อถึงกันได้ นอกจากนี้ ตัวเครื่องลูกข่ายก็มีความคงทน กันกระแทก กันน้ำ กันประกายไฟ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานภาคสนามและช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ
ยิ่งไปกว่านั้น DTRS ยังมีคุณสมบัติในการปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูง สามารถป้องกันการดักฟังด้วยการเข้ารหัส และที่สำคัญที่สุด คือ ระบบ Digital Trunked Radio มีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถใช้ติดต่อถึง
กันได้โดยไม่จำกัดพื้นที่และมีคุณภาพเสียงที่คมชัด ด้วยการส่งสัญญานในระบบดิจิตอลและระบบตัดเสียงรบกวน ด้วยคุณสมบัติหลักๆดังกล่าว ระบบ DTRS จึงแตกต่างจากระบบวิทยุสื่อสารในแบบเดิมๆ และมีคุณสมบัติที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถทดแทนได้ เพราะแม้ว่าปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือจะสามารถใช้ในการสื่อสารแบบกลุ่มได้ แต่ยังคงต้องใช้ Application และใช้ช่องทาง Internet ในการสื่อสาร ซึ่งในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรืออุบัติภัยร้ายแรง และเครือข่ายการสื่อสารไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ โทรศัพท์มือถือก็จะไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ
ในส่วนของลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการต่างๆ เช่น การขนส่งและการเดินทาง (Logistic &Transportation) , โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม, โรงพยาบาล, ศูนย์กู้ภัย และกลุ่มรถหรู Super Car เป็นต้น โดยบริษัทสามารถพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรในลักษณะ Customization พร้อมนำเสนอเครื่องลูกข่ายที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และพร้อมให้บริการหลังการขายที่มีประสิทธิภาพ
“ด้วยโอกาสทางการตลาดและด้วยคุณสมบัติเด่นของระบบ DTRS บริษัทมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะเป็นแหล่งรายได้ประจำที่สำคัญของบริษัทต่อไป เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายแล้ว ยังมีรายได้จากค่าบริการรายเดือน ซึ่งเริ่มต้นที่ 800 บาทต่อเครื่องต่อเดือน โดยในปี 61 นี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการ 50,000 ถึง 100,000 เครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 แสนเครื่องในปี 63 ” นายวัฒน์ชัยกล่าวทิ้งท้าย