คลังเก็บ

เวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปีที่ 11 หนุนสร้าง “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค” สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม

 

ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด สนับสนุนแนวคิดสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สอดรับเทรนด์สุขภาพคนเมือง-ความต้องการของตลาดโลก

 

เวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562 ดำเนินมาถึงปีที่ 11 ภายใต้แนวคิด “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค” โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อทุกชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยเริ่มจากการสร้างความยั่งยืนให้กับตนเองแล้วส่งต่อให้กับผู้อื่น ด้วยการเกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ กระบวนการปลูก การแปรรูปเพิ่มมูลค่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการตลาด โดยยึดหลักสำคัญทั้ง 4 ประการ คือ สุขภาพ(health) นิเวศวิทยา(ecology) ความเป็นธรรม(fairness) และการดูแลเอาใจใส่ (care) นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) ตั้งแต่กระบวนผลิต การขนส่ง การบริโภค ไปจนถึงการจัดการและกำจัดของเหลือใช้ในฟาร์ม

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาหารปลอดภัยเป็นความท้าทายหนึ่งของโลกที่กำลังเผชิญ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน รัฐบาลได้เห็นความสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ทั้งนี้ ในกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ได้มีการจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เกษตรกรและผู้บริโภค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสัดส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วโลกรวมกันประมาน 436.53 ล้านไร่ ใน 173 ประเทศ มีมูลค่าทางการตลาดสูง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจัดว่าเป็นอันที่ 7 ของภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่รวม 360,000 ไร่ โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ให้ได้ในปี 2565 ซึ่งการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์นี้ จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภคและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ในอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด มีความมุ่งหวังเชิดชูเกษตรกรตัวอย่าง และขยายแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “เกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจร” โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ อันได้แก่ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง

ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารจานด่วน อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยากต่อการคัดเลือกวัตถุดิบ ดังนั้น การเลือกบริโภคอาหารที่มีวัตถุดิบอินทรีย์ถือเป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารของคนเมือง เพื่อการรับประทานที่อุดมไปด้วยโภชนาการและปราศจากสารปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนและเป็นกำลังใจสำคัญให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเกษตรวิถีอินทรีย์ ที่ต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะและความประณีตอย่างสูง เพื่อสร้างอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค

“กว่าทศวรรษที่เราดำเนินโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เชิดชูเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพ  จนเกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ  พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับแผ่นดิน ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชน สังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้มั่งคั่งยั่งยืน” นายบุญชัยกล่าว

dtac

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก และการเปลี่ยนรูปแบบของวิถีชีวิตจากชนบทสู่เมืองที่เพิ่มมากขึ้น (Urbanization) โดยประชากรเมืองจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% ภายในปี 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 50% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดความตระหนักในความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตได้ (Traceability)”

เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของโลกที่เน้นความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้ห่วงโซ่ทางการเกษตรมีประสิทธิภาพผ่านการทำเกษตรอย่างแม่นยำ (precision farming) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (data) ที่ได้จากแปลงเกษตรจริง ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ลดการพึ่งพาสารเคมี สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

ดีแทคมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยยึดหลักการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) หรือ CSV ระหว่างภาคธุรกิจ สังคมและประชาชน เพื่อเสริมศักยภาพภาคการเกษตรไทย อันเป็นการตอกย้ำบทบาทของดีแทคที่มากกว่าการเป็น Mobile connectivity” นางอเล็กซานดร้า กล่าว

ผลการตัดสินเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562

          รางวัลชนะเลิศ

นายปรีชา หงอกสิมมา จ.ขอนแก่น

เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและเป็นแบบอย่างของการทำเกษตรแบบยั่งยืน หลังจากผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีและไม่ได้รับความเป็นธรรม

หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านเกษตรมาโดยตรงและเริ่มทำงานในโครงการส่วนพระองค์ มูลนิธิชัยพัฒนา ทำหน้าที่เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้เกษตรกรและผู้สนใจแนวพระราชดำริ ก่อนจะลาออกแล้วหันหน้ายึดอาชีพเกษตรกร โดยนำความรู้พื้นฐานด้านเกษตรที่ร่ำเรียนบวกกับความชอบเรื่องระบบนิเวศน์ป่าและธรรมชาติมาวางแผนในการทำแปลง โดยเน้นเรื่องป่าไม้ควบคู่กับการทำเกษตร

 ปรีชา ได้ยึดแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 14 ไร่ เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการผสมผสานกิจกรรมทางการเกษตรอย่างครบวงจร ได้แก่ ธนาคารต้นไม้ พื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ ฟาร์มไก่ไข่อารมณ์ดี การแปรรูปสมุนไพรและพื้นที่ที่จัดสรรเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งผลิตพืชผักและสมุนไพรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “WANAPHANW” (วรพรรณ)

ขณะเดียวกัน ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก สามารถเลือกปลูกผลผลิตนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรได้ ทำน้อย ได้มาก สร้างรายได้ให้ทั้งตัวเองและชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

นายโกสินธุ์ สุวรรณภักดี จ.มหาสารคาม

ผู้คิดค้น ต่อยอด สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ “กล้วยเสียบตอก” ด้วยการนำวัสดุพื้นบ้านมาใช้ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

นางกล้วย ดวงคำ จ.อุดรธานี

ผู้นำกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ที่เข้มแข้ง มีเครือข่ายข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานออร์แกนิค สามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศในนาม “ข้าวอินทรีย์บ้านเชียงเพ็ง”