ในเรื่องของสิทธิพนักงาน ยังมีหลายๆ อย่างที่เชื่อว่าหลายคนยังเข้าใจไม่ชัดเจน หรือยังข้องใจอยู่ว่าสิทธิไหนควรได้รับหรือไม่ได้รับอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิของลูกจ้างทดลองงาน ครั้งนี้ทางบทความจึงถือโอกาสนำเอาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างทดลองงานและการได้รับค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT มานำเสนอเพื่อให้คนทำงานทุกคนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงนายจ้างก็เช่นกัน ที่ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ร่วมกัน ถึงแม้ว่าการคำนวณเงินเดือนของลูกจ้างอาจมีความซับซ้อน แต่ในบริษัทบางแห่งก็เลือกที่จะนำโปรแกรมเงินเดือนเข้ามาช่วยคำนวณเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น
ลูกจ้างทดลองงานคืออะไร?
ลูกจ้างทดลองงานเป็นลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ อยู่ในสถานะการทดลองว่าจะสามารถทำงานได้ตามเกณฑ์ที่นายจ้างตั้งไว้หรือไม่ เพื่อที่จะบรรจุเป็นพนักงานในลำดับต่อไป หากลูกจ้างทดลองงานสามารถทำงานได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่ถ้าหากไม่ผ่านเกณฑ์ ก็อาจต้องออกจากงาน หรืออาจจะได้รับการขยายเวลาทดลองงานต่อ ขึ้นอยู่กับหัวหน้างานหรือนายจ้างจะพิจารณาต่อไป
ลูกจ้างทดลองงานจะได้รับค่าจ้างเหมือนกับลูกจ้างประจำ ทั้งนี้อัตราการจ้างในช่วงทดลองงานและหลังผ่านการทดลองงานจะเท่ากันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ลูกจ้างบางคนอาจตกลงกับนายจ้างเอาไว้ว่าหลังผ่านการทดลองงานจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าในช่วงทดลองงาน แต่บางคนก็ได้รับอัตราจ้างเท่ากันระหว่างช่วงทดลองงานและหลังผ่านการทดลองงาน
สิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างทดลองงาน
ทันทีที่นายจ้างตัดสินใจรับพนักงานเข้าทำงาน พนักงานคนนั้นจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเท่ากับลูกจ้างประจำทันที แม้จะเป็นช่วงทดลองงานก็ตาม มีสิทธิลาป่วยหรือลากิจที่จำเป็นได้ และได้รับค่าจ้างตามปกติ นายจ้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงการให้สิทธิลูกจ้างซึ่งต้องได้รับตามกฎหมาย เพียงเพราะเป็นลูกจ้างทดลองงานได้ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างทดลองงานนั้นเท่ากับสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างประจำนั่นเอง
สิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างทดลองงาน = สิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างประจำ |
สิทธิที่แตกต่างระหว่างลูกจ้างทดลองงานและลูกจ้างประจำคืออะไร?
จากที่อธิบายในข้างต้น หลายคนอาจยังสงสัยอยู่ว่าถ้าหากสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างทดลองงานเท่ากับสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างประจำ แล้วความแตกต่างระหว่างลูกจ้างทั้ง 2 ประเภทนี้คืออะไร ทำไมต้องมีการแบ่งประเภทระหว่างลูกจ้างทดลองงานและลูกจ้างประจำ ซึ่งทางบทความจะขออธิบายชัดๆ ที่หัวข้อนี้
สิทธิที่ลูกจ้างประจำได้รับแตกต่างจากลูกจ้างทดลองงานก็คือสิทธิที่ไม่ได้บัญญัติในข้อกฎหมาย เป็นสิทธิประโยชน์ที่ทางนายจ้างกำหนดขึ้นมาว่าจะให้พนักงานและต้องเป็นพนักงานประจำเท่านั้น ส่วนมากเป็นสวัสดิการบริษัท ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะมอบสิทธิประโยชน์แบบไหนให้พนักงานบ้าง อย่างเช่นบางบริษัทมีค่ารักษาพยาบาลมอบให้พนักงาน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการทดลองงานแล้ว แปลว่าลูกจ้างทดลองงานก็ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทได้ เป็นต้น
ความหมายของ OT
ก่อนเข้าสู่คำถามว่าลูกจ้างทดลองงานมีสิทธิได้รับ OT หรือไม่ ขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับ OT อีกครั้ง โดย OT ย่อมาจาก Overtime เป็นค่าจ้างล่วงเวลา ซึ่งเป็นการทำงานนอกเหนือเวลางานปกติ ตามกฎหมายแล้วพนักงานที่ทำงานล่วงเวลาจะต้องได้รับค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT ตามอัตราที่กำหนด แต่การทำงานล่วงเวลา ณ ที่นี้ จะต้องเป็นคำสั่งการจากนายจ้าง ไม่ใช่งานที่ลูกจ้างทำไม่เสร็จภายในเวลาเอง ทำให้ต้องอยู่ทำงานต่อเพื่อให้เสร็จทันเวลา
ทั้งนี้ลักษณะดังกล่าว ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง จะต้องมีการตกลงกันถึงจำนวนงานที่เหมาะสมในแต่ละวัน เพราะบางครั้งการที่ลูกจ้างทำงานไม่ทันเวลา อาจเป็นเพราะตัวลูกจ้างเองที่หย่อนสมรรถภาพการทำงานของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถทำได้ทันเวลา แต่บางกรณีเป็นงานเร่งงานด่วนแทรกเข้ามา ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานมากกว่าปกติ หรือต้องอยู่ทำงานนอกเหนือเวลางานปกติ ซึ่งสมควรที่จะได้รับค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT
ลูกจ้างทดลองงานมีสิทธิได้รับ OT หรือไม่
กรณีที่เป็นลูกจ้างทดลองงาน ตามที่กล่าวไปข้างต้น สิทธิตามกฎหมายของลูกจ้างทดลองงานนั้นเท่ากับสิทธิของลูกจ้างประจำ ดังนั้นเรื่องของค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย เท่ากับว่าลูกจ้างทดลองงานก็มีสิทธิได้รับ OT ด้วยเช่นกัน โดยอัตราจ้างที่ลูกจ้างทดลองงานจะต้องได้รับนั้น ก็จะเท่ากับลูกจ้างประจำทุกประการ
ตามกฎหมายคือนายจ้างจะต้องจ่าย OT ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ และถ้าหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ
บริษัทที่ไม่จ่าย OT ให้ลูกจ้างทดลองงาน
หากบริษัทฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT ให้กับลูกจ้างทดลองงานก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย และลูกจ้างทดลองงานก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องต่อกรมแรงงานเพื่อให้เอาผิดนายจ้างได้ โดยโทษที่นายจ้างต้องได้รับคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปคือสิทธิของลูกจ้างทดลองงานกับการจ่าย OT ของนายจ้างนั้นเท่ากับสิทธิของลูกจ้างประจำ หากนายจ้างไม่จ่าย OT มีความผิดตามกฎหมายแรงงาน โดยอัตราจ้างนั้นก็เท่ากันกับลูกจ้างประจำทุกประการ คือขั้นต่ำ 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือขั้นต่ำ 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เบื้องต้นหากอยู่ในช่วงทดลองงานและถูกนายจ้างปฏิเสธการจ่าย OT ก็อาจประเมินได้แล้วว่าควรทำงานกับนายจ้างรายนั้นต่อไปหรือไม่