ประเด็นการส่งเสริมความยุติธรรมสำหรับประชาชน เป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนพยายามแก้ไขและหาทางออกร่วมกันมาตลอด และที่ผ่านมามีความพยายามที่จะปฏิรูป แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จในวงกว้าง เนื่องจากปัญหาหลักคือการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ทำให้ระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เกิดขึ้นได้ยาก
ทว่า หากไม่ดำเนินการต่อ ก็จะไม่มีวันประสบผลสำเร็จ จึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยหัวใจสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ว่า เรื่องของความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะต้องก้าวไปพร้อมกันในเรื่องที่คิดว่าสามารถทำได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลมาแก้ไขปัญหาให้ทุกเรื่อง
ปัจจุบัน หนึ่งในเครื่องมือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม คือเทคโนโลยี Open Data และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ดังจะเห็นได้จากทั่วโลกได้นำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ และส่งผลให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น เสนอกฎหมาย ร่วมตัดสินใจการใช้กฎหมาย ตลอดจนติดตาม และตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐได้
ด้วยตระหนักถึงแนวโน้มดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ร่วมกับองค์กร ChangeFusion จัดงานเสวนา Roundtable on Technology for Justice Series ภายใต้โครงการ Project j : jX Justice Experiment เป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “Open Data และ AI เพื่อความยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม”
Open Data และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเหมือนประตูที่นำไปสู่ความยุติธรรม ที่แม้ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนที่ช่วยรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดและรวดเร็วที่สุด เนื่องจากหากข้อมูลเป็นไปตามหลัก Open Data อย่างแท้จริง ข้อมูลนั้นจะเป็นชุดข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้งานได้ คอมพิวเตอร์อ่านได้ และเผยแพร่ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน อีกทั้งจำเป็นต้องมี AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยคอมพิวเตอร์จะเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกป้อนเข้ามาและทำการเชื่อมโยงข้อมูลและนำไปสู่การตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า “ระบบธรรมาภิบาลของประเทศมีผลโดยตรงกับคุณภาพของกระบวนการยุติธรรม ถ้าประเทศขาดระบบธรรมาภิบาล ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐในทางการเมืองขาดความโปร่งใส มีการทุจริตคอรัปชั่น แทนที่กระบวนการยุติธรรมจะได้รับการปฏิรูปให้เข้มแข็ง กลับอาจถูกใช้ให้เลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์กับผู้มีอำนาจ เราเห็นตัวอย่างเช่นนี้ตลอดมา
ดังนั้นการปฏิรูประบบยุติธรรมที่ได้ผลจึงต้องเริ่มที่การปฏิรูประบบธรรมาภิบาลของประเทศด้วย การที่เรามี open data และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมสร้างความโปร่งใสและการตรวจสอบอันเป็นหัวใจของหลักธรรมาภิบาล โดยไม่ต้องรอภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว”
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
กระแสการใช้งาน Open Data และ AI ทั่วโลกในขณะนี้ คือ
1.) Digital Democracy ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ เช่นประเทศไต้หวันได้สร้างplatform ให้ประชาชนสามารถโหวตนโยบายสาธารณะ ประเทศไอซ์แลนด์ให้ประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญผ่านระบบ online
2.) Open Access, Smart Transparency เช่นการเปิดเผยข้อมูลแผนผังสนามบินในประเทศตุรกี การนำข้อมูลดาวเทียมมาดูน้ำท่วมในไทย
3.) Prediction การนำข้อมูลมาทำนายคาดการณ์การเกิดอาชญากรรม การเกิดอุบัติเหตุ
และ 4.) การใช้ภาษาธรรมชาติเชื่อมโยงคนเข้ากับเทคโนโลยี ด้วย Chatbot เช่น แอพพลิเคชั่น Do Not Pay Bot สำหรับเรียกร้องให้คนไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในกรณีที่เทคโนโลยีคำนวณผิดพลาด เป็นต้น
สำหรับงานเสวนาในภาคเช้าว่าด้วยเรื่อง Open Data และ AI in Action อาจสรุปได้ว่า การจะนำ Open Data และ AI มาใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นจำเป็นต้องตระหนักถึงปัจจัยสำคัญ คือ การเข้าใจประชาชน (understand people) การเก็บข้อมูลประชาชนในส่วนของภาครัฐ ต้องเป็นไปเพื่อรับฟัง เข้าใจ และเข้าถึงประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงการบริหารประเทศ ไม่ใช่เพื่อการควบคุม
อีกทั้งต้องมีการเปิดพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วม เช่น พื้นที่โซเชียลมีเดีย และภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ การเปิดเผยข้อมูลภาษี และข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ดี ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้แสดงความเห็นไว้ด้วยว่า หากอำนาจกับผลประโยชน์เป็นปัจจัยที่ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล และไม่สามารถทลายผลประโยชน์นี้ได้ Open Government ก็คงไม่เกิด
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการใช้เทคโนโลยีเปิดเผยข้อมูลภาครัฐจะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานภาครัฐได้ เป็นดั่งไฟฉายที่ฉายแสงสว่างไปยังที่มืด ช่วยให้เห็นการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล และลดการทำงานที่ไม่โปร่งใส นำไปสู่การทลายอำนาจและผลประโยชน์ได้ สอดคล้องกับความเชื่อของ TIJ ที่ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำข้อมูลภาครัฐมาตีแผ่และตรวจสอบจะช่วยถ่วงดุลอำนาจในสังคมได้
อย่างไรก็ดี พบว่าที่ผ่านมาในประเทศไทยมีหน่วยงานหลายภาคส่วนที่ได้เริ่มนำเทคโนโลยี Open Data และ AI มาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐ ทั้งในส่วนของการนำข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้วมาวิเคราะห์ด้วย AI เช่น โครงการ YouPin Chat Bot ที่นำข้อมูลเปิดที่มีอยู่แล้ว มาทำการวิเคราะห์และรายงาน ตลอดจนเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนได้ร่วมรายงานปัญหาในกรุงเทพฯ ที่พบเจอ ทำให้คนอื่น ๆ รู้ปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐรู้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร
และโครงการลดอุบัติเหตุ โดยอาศัยเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ทำนายแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการตรวจหา blind spots บริเวณจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ จากข้อมูลของกรมทางหลวง อาสาสมัคร รวมไปถึงบริษัทประกันภัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเปิดเพื่อการใช้ประโยชน์ของส่วนรวม
เช่น โครงการ KiiD ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท ซึ่งมี Open Data ระบบนิเวศนวัตกรรมของย่าน โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาช่วยกันอัพเดทข้อมูล อันจะนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในหลายแง่มุม ทั้งเศรษฐกิจ กิจกรรม สุขภาพ และความปลอดภัย
ขณะที่ภาครัฐมีโครงการเช่น เว็บไซต์ data.go.th สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โครงการโปลิศน้อยเพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบาง คือ สตรีและเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัว และต้องการเพื่อนคู่คิดด้านข้อกฎหมาย และเป็นช่องทางร้องเรียน เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศมีโครงการที่น่าสนใจที่ริเริ่มจากรัฐบาล
อย่างทางการจีนดำเนินการ Experimental Policy ทดลองการให้คะแนนจิตพิสัยประชาชน หรือ China’s Social Credit Scoring เพื่อเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย และหากรัฐบาลกลางนำข้อมูลไปประเมินแล้วพบว่าวิธีการใดประสบผลสำเร็จ จะมีการนำไปปฏิบัติจริงในปี 2020
อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยี Open Data และ AI ไปใช้ก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐาน AI ว่าใช้มาตรฐานใดในการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ AI จะมีอคติกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้แบบแผน Machine Learning ทั้งยังเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของบุคคลได้ ทำให้สุ่มเสี่ยงจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
นอกจากนี้ AI ยังทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเดียว ยังไม่สามารถวิเคราะห์คุณค่าของความสุข สุขภาพ สันติสุขได้ เป็นต้น การจะใช้ Open Data และ AI จึงต้องนำหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาลไปช่วยกำกับการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
การจะขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยุติธรรม สิ่งสำคัญคือ สังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วน การสร้างภาคีเครือข่ายและทำงานร่วมกันจะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยเริ่มทำจากจุดเล็ก ๆ ดังที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวไว้ว่า
“หากสามารถสร้างพื้นที่ให้คนที่มีความเชี่ยวชาญต่างกัน แต่มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสังคมเหมือนกัน มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อยขยายไป เครือข่ายตรงนี้จะมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างมหาศาล”