กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ AIS เดินหน้าสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อม สังคม ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบนิเวศและสุขภาพประชาชน โดยเปิดตัวความร่วมมือต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือ
โดยทั้งสององค์กรได้ขยายความร่วมมือในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการทำงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ จนนำไปสู่การจัดการที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากลแบบ Zero Landfill ให้กับคนไทย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีการเสนอแนะมาตรการ แนวทาง และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย
ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 เราได้ดำเนินโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” โดยจัดตั้งจุดฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั่วประเทศ
รวมถึงการทำงานของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม.ร่วมกันให้ข้อมูลการจัดเก็บและทิ้งอย่างถูกวิธี ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในชุมชน เพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เพื่อนำไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป”
นายวราวุธ กล่าวเสริมต่อไปว่า “ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศมีมากกว่า 400,000 ตันต่อปี แต่มีการเก็บรวบรวมและนำไปจัดการอย่างถูกต้องเพียง 500 ตัน ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือน ขายเป็นสินค้ามือสอง ขายให้รถเร่/ซาเล้ง และนำไปถอดแยกในชุมชนอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
โดยขณะนี้กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการจัดทำ ร่าง พรบ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการเก็บรวบรวมและจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ขยายผลการทำงานร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโครงการ คนไทยไร้ E-Waste อย่างต่อเนื่อง
ซึ่ง AIS ในฐานะ Digital Life Service Provider เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ พร้อมร่วมดูแลรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการปัญหาขยะ ที่รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ซึ่งนับได้ว่าเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่จะต้องมีการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลัก Zero Landfill”
ซึ่งที่ผ่านมา AIS ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียในการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการจัดทำ โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอาสารับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทยไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มพันธมิตรอย่าง ไปรษณีย์ไทย TBCSD ภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆกว่า 120 แห่ง อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบองค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานเครือข่าย ทสม. พระนครศรีอยุธยา เผยว่า “บทบาทหน้าที่ของเรามุ่งเฝ้าระวังปัญหาและร่วมกันปลูกจิตสำนึกในการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆของชุมชน ซึ่งขณะนี้เรามีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยในมิติของขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในชุมชนไม่ทราบถึงวิธีการคัดแยกขยะดังกล่าวอย่างถูกต้อง แต่หลังจากเครือข่ายของเราขับเคลื่อนให้ความรู้ ทำให้ประชาชนได้ทราบถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถทิ้งในจุดรับทิ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดส่งให้กับทางไปรษณีย์ หรือทิ้งในจุดรับคืนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ AIS ทำให้โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ถูกขยายผลไปสู่คนไทยมากยิ่งขึ้นด้วยการทำงานที่สอดประสานและเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน