ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมการวิจัยตลาดมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง กระแสโซเชี่ยลและการเติบโตขององค์กร ที่มีส่วนช่วยให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีปริมาณมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากการวิจัยตลาดที่มีความแม่นยำจึงมีความสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการแข่งขันในตลาดโลก
จากข้อมูล Statista ล่าสุดรายงานว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมการวิจัยตลาดโลกทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ประมาณ 84.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้คาดการณ์ว่าในปี 2024 จะเติบโตสูงถึง 87.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการวิจัยตลาดโลกได้เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจโดยรวม
ในปี 2024 นี้ มร. แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 250 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการวิจัยตลาด จากรางวัล Insight 250 Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และได้ทำการคัดเลือกจาก ESOMAR ในฐานะสมาคมวิจัยตลาดระดับโลกชั้นนำ
โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดมากกว่า 30 ท่านจาก 17 ประเทศ พิจารณาจากคุณสมบัติในหลายมิติ รวมถึงประสบการณ์การทำงาน ความสำเร็จทางวิชาการ งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ การเป็นผู้นำทางความคิด การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม นวัตกรรมที่ช่วยด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ฯลฯ
รางวัล Insight 250 Award นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้แก่ผู้นำระดับโลกที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีผลงานโดดเด่นในวงการวิจัยตลาด และมุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับการวิจัยตลาด ธุรกิจ และองค์ความรู้ทางการตลาด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวิจัยตลาด
จากประสบการณ์มากกว่า 20 ปี มร. แกรนท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้ได้รับตำแหน่งสำคัญในบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำหลายแห่ง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทมาร์เก็ตบัซซ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดแบบครบวงจรในการให้คำปรึกษาด้านข้อมูลเชิงลึกด้วยการวิจัยตลาดผ่านการสำรวจบนโทรศัพท์มือถือ การใช้สื่อ และการทำการตลาดบนโทรศัพท์มือถือ
และด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทบัซซี่บีส์ (BUZZEBEES) ผู้นำด้าน Loyalty & Digital Engagement platform ปัจจุบันมีฐานข้อมูลผู้ใช้งานบน Eco-system กว่า 170 ล้านบัญชี ทำให้สามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดได้เป็นอย่างดี
มร. แกรนท์ ได้แชร์มุมมองด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมวิจัยตลาดในอนาคตว่า เทคโนโลยีได้ปฏิวัติวงการวิจัยตลาดอย่างมากและยังคงมีบทบาทกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่เป็นที่แปลกใจว่าทุกวันนี้เราอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ที่ผลักดันให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ รวดเร็วขึ้น เก็บข้อมูลได้เร็วและปริมาณมากขึ้น ทำให้ได้ข้อมูลการตลาดแบบเรียลไทม์และมีความแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ การทำวิจัยด้วยวิธีการอื่นๆ รวมถึงการทำสำรวจบนมือถือ การสนทนากลุ่มแบบ virtual รวมถึงวิธีอื่นๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากทำให้ได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว สามารถบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงผู้คนได้ทุกที่ทุกเวลา
แม้ว่าเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งโอกาสมากมาย แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยมร.แกรนท์ ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความไว้วางใจให้กับคนไทย และการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคล
ในอีกด้านนั้นคนไทยต้องการความสะดวกสบายและเข้าถึงแบบสำรวจหรือแบบสอบถามได้ง่าย และได้รับผลตอบแทนหรือดีลดีๆ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ก็ยังต้องการได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลอื่นๆ ดังนั้นควรจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างจุดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อพัฒนาธุรกิจและการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้าที่ยั่งยืนในระยะยาว
การปรับตัวของผู้นำองค์กร มีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการเปิดรับนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การสร้างทีมงานที่มีความเข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ องค์กรที่ยอมรับกรอบความคิดนี้และปรับตัวอย่างรวดเร็วจะมีความพร้อมมากกว่าในการเติบโตอย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
มร.แกรนท์ กล่าวเน้นย้ำว่าในขณะที่เทคโนโลยียังคงเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียง “Enabler” หรือตัวช่วยให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทต่างๆ อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิผล และการจัดโครงสร้างธุรกิจของตนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของข้อมูล