คลังเก็บ

จับตาเทรนด์นวัตกรรมแห่งอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 ที่กำลังจะมาถึง เราก็จะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ แห่งอนาคตกันอีก โดยจะมีเทรนด์ดิจิทัลเทคโนโลยีสำคัญถึง 10 เทรนด์ ซึ่งมีอย่างน้อย 4 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศกันอีกครั้ง และจะเป็นการกำหนดอนาคตของการสร้างโลกอัจฉริยะอย่างครอบคลุมในปี ค.ศ. 2025 

Huawei

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยถึงเทรนด์นวัตกรรมที่มีนัยสำคัญภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ว่า “ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ภารกิจของหัวเว่ยคือการเติบโตในประเทศไทยไปพร้อมกับการสนับสนุนประเทศไทย เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านเทรนด์เทคโนโลยีและเทรนด์อุตสาหรรมจากวันนี้จนถึงปี ค.ศ. 2025 ให้ทุกคนได้รับทราบ โดยเทรนด์เทคโนโลยีโลกที่น่าจับตามองต่อจากนี้ครอบคลุม 4 ประเด็นหลักได้แก่  Augmented Creativity, Symbiotic Economy, 5G Rapid Rollout และ Global Digital Governance โดยเทคโนโลยีด้าน ICT จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเทรนด์เหล่านี้ และจะมีผลโดยตรงต่อการสร้างโลกอัจฉริยะให้เป็นจริงขึ้นมาได้”

เทรนด์ Augmented Creativity คือการผสานกันระหว่าง AI และเทคโนโลยีใหม่อื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในกระบวนการสร้างสรรค์งาน ทั้งนี้ รายงาน GIV (รายงานด้านวิสัยทัศน์ด้านอุตสาหกรรมโลกในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจัดทำโดยหัวเว่ย) ระบุว่าองค์กรขนาดใหญ่มากกว่า 97% จะเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ ลดต้นทุน รวมถึงส่งมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้า อันจะนำไปสู่เทรนด์ที่สองคือ Symbiotic Economy เมื่อองค์กรต่าง ๆ ต้องการสร้างความเติบโตทางธุรกิจไปในระดับโลกมากขึ้น กว่า 85% จะใช้งานแอปพลิเคชันทางธุรกิจของตนเองผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีได้จากทุกแห่งหน การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจจะเป็นเรื่องปกติ และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดำเนินธุรกิจจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำหรับ 5G Rapid Rollout มีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสถานีฐานสำหรับการให้บริการ 5G ถึง 6.5 ล้านสถานีทั่วโลก รองรับการให้บริการผู้ใช้งานได้มากถึง 2,800 ล้านคน ครอบคลุมจำนวนประชากรโลกถึง 58% และเทรนด์สุดท้ายที่น่าจับตามองก็คือ Global Digital Governance เมื่อเครือข่าย 5G แพร่หลายมากขึ้น ผู้คนและองค์กรธุรกิจใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณข้อมูลทั่วโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึง 180 เซตตะไบต์ (หรือ 180,000 ล้านเทระไบต์) จึงต้องมีขั้นตอนการบริหารจัดการข้อมูลที่รัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

เทรนด์สำคัญจากรายงาน GIV ของหัวเว่ยนี้ทำให้เห็นภาพของโลกอัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ นายอาเบล เติ้ง ได้เสริมว่าหัวเว่ยเชื่อว่าทุกคนมุ่งหวังจะเห็นอนาคตอันน่าตื่นเต้นนี้และต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงไปพร้อมกัน ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ICT จึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ และจะตอบรับกับยุคใหม่นี้ด้วยวิสัยทัศน์และภารกิจของบริษัท ซึ่งก็คือการเติบโตพร้อมกับการสนับสนุนประเทศไทยไปด้วยกัน