ในขณะที่ประชาชนจำเป็นต้องอยู่กับบ้านเมื่อปีที่แล้ว การบริโภคข่าวสารจากสื่อกระแสหลักและแหล่งข้อมูลออนไลน์ยิ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเน็ตจากภูมิภาคนี้บริโภคข่าวสารส่วนใหญ่ผ่านโซเชียลมีเดีย
การวิจัยล่าสุดของแคสเปอร์สกี้เปิดเผยว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ (76%) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับข่าวสารอัปเดตจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram และอื่นๆ ขณะที่ Gen Z มีเปอร์เซ็นต์สูงกว่าที่ 83% ตามด้วย Millennials ที่ 81% Baby Boomers ที่ 70% และ Gen X ที่ 62% อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ไม่ได้แสดงถึงความไว้วางใจในข้อมูลที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มต่างๆ
เนื่องจากข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ยังคงเป็นประเด็นปัญหา การสำรวจเดียวกันนี้เปิดเผยว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 2 ใน 10 คน (18%) ยอมรับว่าแชร์ข่าวก่อนที่จะตรวจสอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่ม Gen Z สูงสุด (28%) รองลงมาคือ Gen X (21%) Boomers (19%) และ Millennials มีตัวเลขต่ำสุด (16%)
ตาราง 1 เปอร์เซ็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แชร์ข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน
นางสาวเบเวอร์ลี่ หลิว นักจิตวิทยาจาก Mind What Matters ระบุว่าเหตุผลที่การแบ่งปันข่าวออนไลน์มีอัตราการตรวจสอบต่ำ อาจเป็นผลมาจากทฤษฎีการนำเสนอตนเอง ซึ่งบุคคลต้องการที่จะนำเสนอตัวเองในลักษณะใดวิธีหนึ่ง ดังนั้นเมื่อผู้ใช้แบ่งปันข้อมูลโดยไม่ได้ไตร่ตรอง จึงเป็นไปได้มากว่าได้รับแรงบันดาลใจจากความหวังที่จะนำเสนอตัวเองในฐานะชาวเน็ตที่อัปเดตและมีข้อมูลดี
“โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งนำเสนอเรื่องเล่าประเภทต่างๆ มากมาย ในบางครั้งเหตุการณ์หนึ่งอาจมีเรื่องเล่าหลายแบบหรือหลายเวอร์ชั่นที่ขัดแย้งกัน และการตรวจสอบความจริงของเรื่องหรือความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนออาจใช้เวลานานกว่า และต้องใช้ความพยายามมากกว่าแค่การกดปุ่ม SHARE หรือ REPOST” นางสาวเบเวอร์ลี่ หลิว กล่าว
การวิจัยเรื่อง “Making sense of our place in the digital reputation economy” นี้สำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม 1,240 คนโดย 831 คนมีภูมิลำเนาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 5 ใน 10 คนจากทุกรุ่นเท่านั้นที่ระบุว่าได้อ่านบทความฉบับเต็มก่อนแชร์ในโซเชียลมีเดียของตนเอง
นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประมาณ 400 ล้านคน และในจำนวนนี้มี 40 ล้านคนที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกในปี 2020 นอกจากนี้ภูมิภาคนี้ยังมีกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุด การสำรวจของเราพบว่า หลังจากช่วงล็อกดาวน์ ผู้ใช้ 36% ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น 1-2 ชั่วโมง ผู้ใช้ 28% เพิ่ม 2-4 ชั่วโมง และผู้ใช้อีก 17% ใช้เวลากับสังคมออนไลน์นานขึ้น 4-6 ชั่วโมง”
“จากมุมมองด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ข้อมูลเท็จเป็นรูปแบบหนึ่งของวิศวกรรมสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นที่อาชญากรไซเบอร์ใช้เพื่อตกเบ็ดผู้ใช้บุคคลและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดาย ปี 2020 มีการแพร่กระจายของอีเมลฟิชชิ่ง กลโกงและโดเมนปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 มากมายและตอนนี้ก็รวมเรื่องวัคซีนเข้าไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ทั้งบุคคลและธุรกิจที่มีรูปแบบการทำงานจากที่บ้านในปัจจุบันไม่ควรรับข้อมูลที่ผิดๆ บนโซเชียลมีเดียแม้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการระบาดใหญ่นี้ยังไม่สิ้นสุด การเฝ้าระวังข้อมูลและลิ้งก์ที่เราแชร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายเซียง เทียง โยว กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลเท็จทางออนไลน์มากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 6 ใน 10 คนจากทุกรุ่นระบุว่าได้ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลหรือข่าวสารที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียก่อนที่จะคลิก “แชร์” นอกจากนี้รุ่น Boomers ยังเป็นผู้นำกลุ่มในการเผชิญหน้ากับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่แบ่งปันข่าวเท็จที่ 41% ตามมาด้วย Millennials (27%) Gen X (23%) และ Gen Z (19%)
ตาราง 2 เปอร์เซ็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญหน้ากับเพื่อนหรือครอบครัวที่แชร์ข่าวหลอก
การบล็อกเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ใช้ในภูมิภาคใช้เพื่อป้องกันตนเองจากข้อมูลเท็จ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่าหนึ่งในสี่ยอมรับว่าบล็อกผู้ใช้ที่แชร์บทความที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เปอร์เซ็นต์ของการปิดกั้นเพื่อนออนไลน์สูงสุดใน Gen Z ที่ 46% ตามมาด้วย Boomers, Millennials และ Gen X ที่ 33%, 32% และ 30% ตามลำดับ
แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีด้วยโซเชียลวิศวกรรมบนโซเชียลมีเดียดังนี้
• ตรวจสอบแหล่งที่มา ใช้เวลาสักครู่เพื่อไตร่ตรองว่าข้อมูลมาจากไหน อย่าหลับหูหลับตาไว้ใจ ตรวจสอบลิ้งก์ ตรวจสอบการสะกด หากมีข้อสงสัยให้มองหาเว็บไซต์ข่าวอย่างเป็นทางการหรือเว็บไซต์ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
• ทำลายวงจร วิศวกรรมสังคมมักขึ้นอยู่กับความเร่งด่วน ผู้โจมตีหวังว่าเป้าหมายจะไม่คิดถี่ถ้วนเกินไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นควรใช้เวลาสักครู่เพื่อค้นคว้าและอ่านอย่างละเอียดก่อนแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะเป็นการยับยั้งการโจมตีรูปแบบนี้ได้
• อย่าเร็วเกินไป ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อรู้สึกถึงความเร่งด่วนระหว่างการสนทนา ซึ่งผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้เป็นวิธีมาตรฐานเพื่อป้องกันเป้าหมายไม่ให้มีเวลาคิด หากคุณรู้สึกถูกกดดัน ให้คุณทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว วิศวกรโซเชียลจะไม่เสี่ยงลงมือหากรู้สึกว่าสูญเสียประโยชน์ไป
• คำนึงถึงร่องรอยทางดิจิทัล (digital footprint) การแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์มากเกินไปเช่น ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้โจมตีได้ ขอแนะนำให้เปลี่ยนการตั้งค่าโซเชียลมีเดียเป็น “เฉพาะเพื่อนเท่านั้น” และระมัดระวังสิ่งที่แชร์
• รักษาความปลอดภัยอุปกรณ์ สำหรับบุคคลทั่วไป โซลูชั่นรวมของผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยและขั้นตอนปฏิบัติสามารถลดภัยคุกคามและทำให้ข้อมูลปลอดภัยทางออนไลน์ สำหรับธุรกิจ ด้วยรูปแบบการทำงานจากที่บ้าน ขอแนะนำให้บริษัทฝึกอบรมพนักงานเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อย่างสม่ำเสมอ และปกป้องเครือข่ายด้วยโซลูชั่นป้องกันเอ็นด์พอยต์ระดับไฮเอ็นด์แต่เป็นมิตรกับงบประมาณ เช่น Kaspersky Endpoint Detection and Response Optimum
เกี่ยวกับรายงานการสำรวจ
รายงานของแคสเปอร์สกี้ เรื่อง “Making sense of our place in the digital reputation economy” ศึกษาทัศนคติของบุคคลในเอเชียแปซิฟิกที่มีต่อการสร้างตัวตนออนไลน์ที่ปลอดภัยและมีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังพิจารณาระดับความตระหนักรู้เรื่องชื่อเสียงทางดิจิทัลของธุรกิจ
การศึกษานี้จัดทำโดยหน่วยงานวิจัย YouGov สำรวจในประเทศออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยมีการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,240 คน ผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุตั้งแต่ 18-65 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย (ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันในโซเชียลมีเดีย)