คลังเก็บ

หัวเว่ยเสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีให้ระบบการขนส่งทางรถไฟ ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อการเดินทางแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

งานเสวนาเกี่ยวกับการขนส่งด้วยระบบราง “Huawei Asia-Pacific Railway Forum 2021” ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ระบบขนส่งทางรถไฟอัจฉริยะ เพื่ออนาคตแห่งการขนส่งที่ดีกว่า (Smart Rail, Better Future Mobility)” เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โดยผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันค้นหานวัตกรรมใหม่ที่จะทำให้การขนส่งดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเหมาะกับระบบการขนส่งในเมืองใหญ่มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับระบบการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ และการบริหารจัดการทำงานโดยรวม

งานเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,300 คน จากกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง พันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยลูกค้าและพันธมิตรหลัก ๆ ของหัวเว่ย ไม่ว่า จะเป็นองค์กรขนส่งมวลชนทางรางแห่งฮ่องกง (Hong Kong Mass Transit Railway Corporation) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสิงคโปร์ (Singapore Mass Rapid Transit Limited) หรือบริษัทผู้ให้บริการอย่าง Arup Group Limited ก็เข้าร่วมเสวนาในงานนี้ด้วย โดยได้แบ่งปันประสบการณ์และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการนำระบบการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับมาใช้ และการบริหารจัดการทำงานโดยรวมของระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่

บนเวทีเสวนา คุณเควก เยน ชี หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางธุรกิจ บริษัท SMRT Corporation ได้แบ่งปันข้อสังเกตว่า ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนในเมือง โดยเขากล่าวว่า “ผมมองว่าเทคโนโลยีมีความพร้อมแล้ว ความท้าทายตอนนี้คือการเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กร รวมทั้งบุคลากรและระบบการทำงานของเราให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มี”

คุณแอรอน หวัง ประธานอาวุโสของกลุ่มธุรกิจองค์กร หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงความท้าทายที่เป็นผลจากโรคระบาดโควิด-19 ว่าความท้าทายดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสได้สำหรับทุกภาคอุตสาหกรรม “ในฐานะผู้นำด้านโซลูชัน ICT ระดับโลก หัวเว่ยช่วยให้ลูกค้าของเรา

เช่น กรมการขนส่งทางบกแห่งสิงคโปร์ (Singapore’s Land Transport Authority) ระบบขนส่งมวลชนแห่งฮ่องกง (Hong Kong MTR) การรถไฟแห่งตุรกี (Turkey TCDD) และการรถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) ในการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีด้วยการผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมที่มีอยู่ เราเชื่อว่าการเดินหน้าทางเทคโนโลยีของระบบขนส่งด้วยรางจะนำไปสู่การเดินทางที่ดีกว่าในอนาคต”

คุณทีซี ชิว (TC Chew) ผู้อำนวยการธุรกิจทางรางระดับโลกของบริษัท Arup เล่าถึงเทรนด์สำคัญ 3 ประการในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ได้แก่ ข้อมูล การวิเคราะห์ และการสื่อสาร ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ทำให้สามารถตัดสินใจและสนับสนุนกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สำเร็จลุล่วงได้ดียิ่งขึ้น

“การจะเพิ่มคุณค่าของเทคโนโลยีสู่ระบบการคมนาคมทางรางรถไฟให้ได้มากที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้คนที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้จริง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้าถึงได้จากเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่มากก็น้อย รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำความอัจฉริยะเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในระดับใด เพื่อช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นในด้านการบริหารจัดการการคมนาคมทางรถไฟในแต่ละวัน รวมถึงการบำรุงรักษาสินทรัพย์ และการบริการลูกค้าของเรา”

คุณชางเฉวียน หลัว (Changquan Luo) ผู้อำนวยการ Metro Station Digital Innovation Studio บริษัท เซินเจิ้นเมโทร อธิบายถึงเบื้องหลังกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของบริษัทว่า ได้ตั้งอยู่บนเป้าหมายของการปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานระดับประเทศในการยกระดับการคมนาคมและการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงความฉลาดทางดิจิทัล (digital Intelligence) ความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการ (operational excellence) และการให้บริการแก่ชาวเมือง “แพลตฟอร์ม ROMA ของหัวเว่ยได้นำมาใช้ในบริการแบ่งปันข้อมูลและสร้างศูนย์รวมคลังข้อมูล (data warehouse)” คุณหลัวกล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีจากหัวเว่ยที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลครั้งใหญ่นี้

“แพลตฟอร์มดิจิทัลสถานีอัจฉริยะนั้นได้รวมศูนย์และบูรณาการบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการผนึกเครือข่ายอันหลากหลายจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าสู่คลาวด์เดียวกัน  ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมีส่วนช่วยให้ Smart Station 1.0 ของเราเป็นไปอย่างสมบูรณ์”