ในงานประชุม Asia-Pacific Spectrum Management ประจำปี ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา หัวเว่ยเผยแนวโน้มในการขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ 5G ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีคลื่นความถี่ 100 MHz
ในระหว่างกล่าวปาฐกถา มร. ตู้ เย่ชิง รองประธานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของหัวเว่ย กล่าวว่า “คลื่นความถี่ย่าน C-band คือคลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับ 5G โดยโอเปอเรเตอร์ในหลายประเทศทั่วโลกได้เลือกใช้หรือกำลังจะเลือกใช้ และโอเปอเรเตอร์แต่ละรายจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 100 MHz เพื่อเป็นรากฐานความสำเร็จทางธุรกิจของ 5G”
เขากล่าวสรุปว่า การมีคลื่นความถี่ขนาดใหญ่ต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนและปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดีขึ้นถึง 10 เท่า และยกระดับโมบายบรอดแบนด์ให้ก้าวไปสู่อีกระดับ ทำให้ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินไปกับบริการคุณภาพสูงได้ทุกที่ทุกเวลา
มร. ตู้ ได้กล่าวว่า 5G ในปัจจุบันเน้นไปที่การเตรียมแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน C-band ให้ลงตัว แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและความต้องการหลักที่สำคัญอื่น ๆ ก็ไม่ควรถูกมองข้ามไป เช่น การแยก uplink-downlink ให้สามารถลดจำนวนไซต์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ ด้วยการติดตั้งใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 2G/ 3G/ 4G ที่มีอยู่เดิม ทั้งยังช่วยให้การครอบคลุมสัญญาณคลื่น C-band มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ เครือข่าย 5G ยังต้องการการซินโครไนซ์ที่แม่นยำ การรบกวนสัญญาณต่ำ การแยกสเปกตรัมน้อย และประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น
ประเทศที่มีคลื่นความถี่ C-band ไม่เพียงพอสามารถที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 100 MHz บนความถี่ประเภท TDD 2.6 หรือ 2.3 GHz ให้แก่โอเปอเรเตอร์แต่ละราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน ในขณะเดียวกันก็ช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาไปสู่คลื่นความถี่สูงของ 5G
โมบายบรอดแบนด์ที่มีทรัพยากรคลื่นความถี่รองรับเป็นตัวขับเคลื่อนให้ GDP เติบโตขึ้นได้ ดัชนีการเชื่อมโยงสื่อสารทั่วโลก ประจำปี 2561 (2018 Global Connectivity Index หรือ GCI) ของหัวเว่ย ได้บ่งชี้ว่าประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
หัวเว่ย หนึ่งในผู้สนับสนุนงาน Asia-Pacific Spectrum Management ซึ่งจัดขึ้นโดย Forum Global, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Telecommunity – APT) ระหว่างวันที่ 17 – 19 กรกฎาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานในกำกับดูแลของภาครัฐ บริษัทโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นในอุตสาหกรรมได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่ได้ดีที่สุดและการกำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่ชัดเจน
ในแง่ของการเลือกคลื่นความถี่และเทคโนโลยี และความต้องการด้านความจุโครงข่าย (Capacity) โอเปอเรเตอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งไทย ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เชื่อว่าการรวมคลื่นความถี่ (ย่านความถี่ต่ำ กลางและสูง) เป็นสิ่งที่เหมาะสมในด้านความครอบคลุมของสัญญาณ ความจุโครงข่าย และความต้องการด้านระดับบริการของเทคโนโลยี 4G และ 4.5G ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้และกระตุ้นการเติบโตของผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้น่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่นำไปใช้กันโดยทั่วไปสำหรับการใช้งานเครือข่าย LTE และคลื่นความถี่ในยุค 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้น