เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดงานประชุมสัมมนา 5G ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยในงาน หัวเว่ยและกสทช. ยังได้ร่วมกันสาธิตความเร็วของอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ในระบบ C-Band (หรือช่วง 3.4-3.6 GHz)
ด้วยการเชื่อมต่อแบบ air interface ตามมาตรฐาน 3GPP โดยสามารถส่งสัญญาณข้อมูลจากสถานีฐานไปยังสถานีลูกข่าย (Downlink) ได้ด้วยอัตราความเร็วสูงกว่า 3.15 กิกะบิทต่อวินาที (Gbps) ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนา 5G ในประเทศไทย
พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในระหว่างเปิดการประชุมว่า การพัฒนา 5G มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ดังที่เราได้เห็นกันมาแล้วว่า 4G ได้ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปมากเพียงใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
พล.อ. สุกิจ ยังเชื่อว่า คนไทยจำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงของเทคโนโลยี 5G ดังนั้น งานนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับสังคมไทยที่จะได้เห็นภาพบางส่วนในอนาคตว่าโลกจะเป็นอย่างไรด้วยเทคโนโลยี 5G
“5G ไม่เพียงปรับเปลี่ยนการสื่อสารของผู้คน แต่ยังรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ การร่วมมือกันในสังคม และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศชาติ เรายินดีที่ได้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโซลูชั่น 4G ที่ยอดเยี่ยม
เรายังเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในยุคของ 5G และทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ 5Gโดยมี 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์หนึ่งสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” มร. อัน เจี้ยน ประธานบริหาร ฝ่ายขายโซลูชั่นและการตลาดไร้สายของหัวเว่ย กล่าว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวปาฐกถาในงาน “5จี เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคมไทยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจเริ่มใช้งานในปี 2563 เป็นต้นไป
นายฐากรได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการมาถึงของ 3G และ 4G ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5จี ที่กำลังจะมาถึง
นายฐากรยังได้กล่าวเตือน 10 อุตสาหกรรม เช่น ภาคการเงิน การผลิต การเกษตร หรือแม้แต่ภาครัฐเองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก 5G พร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเตรียมตัวให้พร้อมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในอนาคต
ด้วยคุณสมบัติความเร็วเครือข่ายระดับอัลตร้าและมีความหน่วงต่ำ เครือข่าย 5G จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาบริการและแอพลิเคชั่นใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ในการสัมมนาครั้งนี้ หัวเว่ย ได้จัดแสดงการใช้งานเทคโนโลยี 5G ถึง 9 แอพพลิเคชั่น รวมถึงการทดสอบความเร็วของอุปกรณ์ 5G, โดรน, การใช้งาน eHealthผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบการผลิตอัจฉริยะ การสาธิตความเร็วของอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ที่ใช้ช่องสัญญาณหรือแบนด์วิธที่ 100 เมกะบิทต่อวินาที (Mbit/s) บนคลื่นความถี่ 3.5 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) ในระบบเครือข่าย 5G แบบ end-to-end นั้น ประกอบไปด้วยเครือข่ายหลัก 5G ของหัวเว่ย, อุปกรณ์ไร้สาย 5G และอุปกรณ์เทอร์มินัลในย่าน C-Band 5G ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันทรงพลังของโซลูชั่น 5G แบบ End-to-End ของหัวเว่ยได้อย่างเต็มที่
เทคโนโลยี 5G คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวางในราวปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อรูปแบบการทำงานและการดำรงชีวิตของผู้คน ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้งาน 5G การใช้งานเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยจากเทคโนโลยี 5G และการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ยุค 5G อีกด้วย
อิริคสัน ควอลคอมม์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย