ประเด็นร้อนแรงในวงการเทคโนโลยี นับตั้งแต่สหรัฐประกาศแบนหัวเว่ยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม แม้ว่าจะผ่านมาครบสัปดาห์แล้ว สื่อหลายสำนักยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดชนิดที่เรียกว่าชั่วโมงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
แม้ว่าข่าวส่วนใหญ่ที่ออกมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา อาจจะสร้างความตระหนกให้ทั้งลูกค้าและคู่ค้าของหัวเว่ย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในฝั่งยุโรปแล้ว ความเชื่อมั่นที่มีต่อหัวเว่ยยังคงเต็มเปี่ยม Abraham Liu, Huawei’ s Chief Representative to the EU Institutions ตัวแทนจากหัวเว่ยยุโรป ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ 5G ในหัวข้อ “5G ตามวิถียุโรป” ให้แก่ผู้สื่อข่าว ณ Huawei Cybersecurity Transparency Centre ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยใจความสำคัญได้กล่าวถึงโซลูชั่น 5G ที่หัวเว่ยได้พัฒนาร่วมกับยุโรปมาโดยตลอด รวมทั้งความไม่เป็นธรรมที่หัวเว่ยได้รับจากอเมริกา และข้อกล่าวหาที่ไม่เคยได้รับโอกาสพิสูจน์
“โซลูชั่น 5G ของหัวเว่ย ซึ่งมิเพียงถือเป็นโซลูชั่นที่ดีที่สุดในตลาดปัจจุบัน หากแต่ยังเรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของยุโรปด้วย เนื่องจากโซลูชั่นเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างที่พัฒนาโดยนักวิจัยและวิทยาศาสตร์ในยุโรป เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของยุโรป”
“หัวเว่ยดำเนินธุรกิจในยุโรปมานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยมีพนักงานในยุโรปกว่า 12,200 คน ซึ่ง 70% ของพนักงานเหล่านี้ เป็นการจ้างงานในพื้นที่ และในปี พ.ศ. 2561 หัวเว่ยได้ซื้อสินค้าและบริการมูลค่ากว่า 5.6 พันล้านยูโรในยุโรป นอกจากนี้แล้ว หัวเว่ยยังมีความร่วมมือด้านงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปถึง 140 แห่ง
ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ประกาศความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป ในการเปิดตัว 5G “สหภาพยุโรปได้พิสูจน์ความสามารถในการผนวกประเทศในยุโรปเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนากฎหมายที่ก้าวหน้าและครอบคลุมบางส่วน เช่น GDPR ซึ่งยุโรปควรผลักดันเรื่องนี้ต่อไป”
Liu ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “สหภาพยุโรปควรตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของยุโรปและพลเมืองของตน”
นอกจากนี้ Liu ยังเปิดเผยว่า “หัวเว่ยปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบตามมาตรฐานที่ยุโรปและ ทั่วโลกวางไว้ทุกประการ แต่เรากำลังตกเป็นเหยื่อที่รัฐบาลอเมริกาคอยรังแก การกระทำดังกล่าว จึงมิได้เพียงถือเป็นการโจมตีหัวเว่ยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการโจมตีทำลายระบบระเบียบที่มีรากฐานอยู่บนกฎเกณฑ์และแนวคิดการค้าเสรีนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวเว่ยในวันนี้อาจเกิดขึ้นกับบริษัทข้ามชาติแห่งไหนก็ได้ในอนาคต”
“…หลักการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด…อยู่ที่ไหนกันแล้วตอนนี้” นี่คือสิ่งที่หัวเว่ยและทั่วโลกกำลังตั้งคำถาม
“หัวเว่ยเข้าใจข้อกังวลด้านความปลอดภัยของรัฐบาลยุโรปและเราพร้อมที่จะทำงานเพิ่มเติมเพื่อคลายข้อกังวลใจนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้นำในวงการและตระหนักดีถึงความสำคัญของ 5G เราจึงพร้อมที่จะเซ็นสัญญาต่อต้านจารกรรมกับรัฐบาลและลูกค้าทุกรายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป”
เมื่อมาดูความเห็นส่วนใหญ่ของผู้นำจากยุโรป ซึ่ง Liu ได้นำถ้อยแถลงของ เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ได้กล่าวในงานประชุม VivaTech ณ กรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ฝรั่งเศสไม่มีความคิดที่จะก่อ “สงครามการค้าหรือสงครามเทคโนโลยี” แต่อย่างใด “เราไม่คิดจะขัดขวางหัวเว่ยหรือบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น การเผชิญหน้ากับประเทศหนึ่งประเทศใดในสงครามการค้าหรือเทคโนโลยี มิใช่เรื่องที่เหมาะสม และมิใช่แนวทางปกป้องความมั่นคงของชาติที่ดีที่สุดแต่อย่างใด ฝรั่งเศสและยุโรปมองโลกตามความเป็นจริงและเลือกเส้นทางที่ทำได้ในเชิงปฏิบัติ เราเชื่อมั่นในความร่วมมือและพหุภาคีนิยม” มาครงกล่าว
และในส่วนของอังเกร่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า “สำหรับเรา หลักเกณฑ์ด้านความมั่นคงคือขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เมื่อเป็นเรื่องของการเลือกว่าจะให้ใครเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน 5G”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้แรงกระทบจากฝั่งอเมริกาอาจจะดูยิ่งใหญ่ หากในฐานะบริษัทระดับโลกแล้วหัวเว่ย จะยังคงเดินหน้าลงทุนและดำเนินธุรกิจในยุโรปต่อไป พร้อมความเชื่อมั่นจากพันธมิตรหลายบริษัทในหลายประเทศ รวมถึงมีการเตรียมมาตรการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากกรณีที่เกิดขึ้น
“หัวเว่ยจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากการกระทำของอเมริกา”