จับตาดูประเทศไทยในช่วงเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังอยู่ในบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน 5G เพราะโดยพื้นฐานของประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่ความล้ำหน้าเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำในอนาคต แน่นอนว่าย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานดิจิทัลเป็นสำคัญ ดังนั้น หากนำเทคโนโลยี 5G ชั้นนำมาพัฒนาร่วมกับคลื่นความถี่หลักที่ใช้กันทั่วโลก จะเป็นเสมือนกุญแจที่ปลดล็อกสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ ที่ผ่านมาการนำคลื่น 2600 MHz มาเริ่มใช้งานของประเทศไทยนับว่าเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ต้องพิจารณาถึงความสำคัญของคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นคลื่นหลักที่จะสามารถใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
5G ได้ถูกนำมาพัฒนาสู่การใช้งานอย่างรวดเร็ว และจากการเปิดตัวให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกนั้น ทำให้เห็นถึงขีดความสามารถซึ่งเป็นปรากฏการณ์โฉมใหม่ของเทคโนโลยีที่พลิกรูปแบบการใช้งาน ในขณะที่เราเผชิญความท้าทายในการต่อสู้เพื่อแก้ไขวิกฤติการระบาดโรคโควิด-19 นั้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาคือการเชื่อมต่อทางดิจิทัล สำหรับประเทศไทยศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G จะรวมถึงการแพทย์ทางไกล และการศึกษาทางไกล ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ระบบการขนส่งยุคหน้า และอื่นๆ อีกมากที่จะตามมาจากการเดินหน้าสู่นโยบายประเทศไทย 4.0
อย่างไรก็ตาม ในการปลดล็อกเพื่อใช้งาน 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างถูกต้อง ดังนั้น ภาพรวมของ 5G ทั้งคุณภาพการใช้งานและความเร็วจึงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลที่จะนำคลื่นความถี่หลักของ 5G มาจัดสรรในเวลาและภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างเหมาะสม โดยปริมาณคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรและกำหนดราคา จะมีผลโดยตรงต่อการส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสามารถเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้
ในขณะที่การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานนั้น ต้องการทั้งคลื่นความถี่ต่ำ (Sub-1 GHz) คลื่นความถี่กลาง (คลื่นย่าน 2600 MHz และ 3500 MHz) และคลื่นความถี่สูง (mmWaves) นั้น คลื่นความถี่สำคัญที่ถูกกำหนดให้เป็นคลื่นแรกสำหรับการให้บริการพื้นฐาน 5G ทั่วโลก คือ คลื่น 3500 MHz กล่าวคือ คลื่นในช่วงความถี่ 3300-4200 MHz และต้องมีปริมาณความกว้างต่อเนื่องจำนวน 80-100 MHz สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละรายซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำมาใช้งาน 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ และเหมาะสมในการลงทุนในระยะแรกของการให้บริการ
คลื่นความถี่กลางเป็นคลื่นแรกที่ถูกเลือกมาใช้งาน 5G พร้อมทั้งเป็นกุญแจสำคัญสู่การปลดล็อกในระยะยาวของผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะเป็นคลื่นที่มีจุดเด่นทั้งความครอบคลุมพื้นที่ใช้งานและความจุของโครงข่าย จึงเหมาะสมที่จะนำมาเปิดให้บริการ 5G ได้เร็วที่สุด การเลือกที่จะนำคลื่น 3500 MHz มาใช้งานในช่วงเริ่มต้นจึงมีข้อดีทั้งการลงทุนในเรื่องอุปกรณ์โครงข่ายและจำนวนสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน ทั้งนี้ การใช้งานคลื่นย่านความถี่เดียวกับทั่วโลก จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนา 5G ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของต่อคนไทยมากที่สุด
สำหรับความต้องการคลื่นของผู้ให้บริการที่มากกว่าปริมาณ 80-100 MHz จะเพิ่มตามความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการให้บริการ 5G และเป็นผู้ให้บริการ 5G ที่มีความเร็วที่สุดในโลกกำลังเตรียมพร้อมในประเด็นนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีของเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจที่จะนำคลื่นย่าน 3700-4000 MHz มาใช้งาน 5G เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันคลื่นดังกล่าวได้ถูกใช้งานสำหรับการสื่อสารดาวเทียม โดยกระทรวงฯ กำลังพิจารณาในการนำคลื่นย่านดังกล่าวมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการให้บริการสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในภูมิภาคต่างๆ ได้เห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการนำคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน 5G อาทิ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ได้จัดสรรคลื่นย่าน 3500 MHz สำหรับสิงคโปร์ได้นำคลื่นย่าน 3500 MHz ในช่วงต้นของย่านความถี่มาจัดสรร มาเลเซียได้กำหนดคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นหลักในการให้บริการ 5G และกำลังวางแผนด้านเทคนิคเพื่อที่จะจัดสรรย่านต้นแบนด์ของคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน ส่วนเวียดนามกำลังปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมในการใช้งานคลื่น 3500 MHz จำนวนความกว้าง 400 MHz เพื่อกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล สำหรับประเทศไทยนั้น นับเป็นก้าวแรกที่ดีในการนำคลื่น 2600 MHz มาจัดสรร แต่ยังไม่เพียงพอในเชิงการแข่งขันของ 5G ในภูมิภาคอาเซียน ถ้านำคลื่น 3500 MHz มาวางแผนใช้งาน 5G จะช่วยให้ก้าวทันกับนวัตกรรมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงผู้ให้บริการเกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด มีการทำงานอย่างยาวนานกับรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดมา สำหรับ 5G นั้นได้รวมถึงประเด็นการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่นบริการโทรทัศน์และดาวเทียม การหาวิธีการที่ดีที่สุดในการชนะอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อ 5G จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการนำเสนอบริการ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อคนในประเทศ
สำนักงาน กสทช. และรัฐบาลไทยควรทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการเร่งสู่ความพร้อมจัดสรรคลื่น 3500 MHz ที่มีความกว้าง 80-100 MHz ต่อผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประเทศไทยจะก้าวไปพร้อมกับทั่วโลกใช้งานระบบนิเวศ 5G พร้อมทั้งประเทศจะสามารถปลดล็อกสู่ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่ในการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กร และ Business to Business หรือ B2B อาทิ ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (industrial automation) อากาศยานไร้คนขับ (autonomous drones) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ตลอดจนการใช้งานเครือข่าย 5G แบบแยกส่วน (5G network slicing) ซึ่งคลื่น 3500 MHz จะเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อสู่บริการเฉพาะได้อย่างเต็มที่
ทั้งหมดนี้ จะนำประสบการณ์ 5G เต็มประสิทธิภาพระดับโลกมาสู่ประชาชนไทย และองค์กรต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลักดันในการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อพลิกโฉมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต
โดย…..จอห์น กิอุสติ หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายกำกับดูแล
สมาคมจีเอสอ็ม (GSMA)