คลังเก็บ

แกร็บ เปิดเวทีเสวนา “GrabNEXT” ครั้งแรก คว้านักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีร่วมแชร์ทรรศนะ ดันไทยสู่ผู้นำ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

แกร็บ ประเทศไทย จัดงาน “GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” เพื่อเปิดตัวเวทีเสวนาเชิงนโยบายประจำปีครั้งแรก ที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Better Life for Riders ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” 

พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญผู้นำทางความคิดชั้นนำระดับประเทศ อันได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มาร่วมแสดงทรรศนะ

พร้อมแนะนำแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำสู่เศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน”  โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) และ การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล 

Grab

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood (หรือ แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า)

แกร็บ จึงได้ริเริ่มจัดงาน GrabNEXT ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมุ่งหมายที่จะสร้างเวทีเสวนาประจำปีที่จะรวบรวมเหล่าผู้นำทางความคิดที่คร่ำหวอดในเชิงเทคโนโลยีและดิจิทัลมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ”

“สำหรับงาน GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า มุ่งเน้นการเสวนาไปที่ 3 ประเด็นหลัก อันได้แก่ บทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อรูปแบบการทำงานในวิถีใหม่ การส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แกร็บหวังว่างานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับสังคมไทย พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้คน”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบว่า “การปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและหลากหลายมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการเล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก

ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการณ์โควิด-19 กระแสของโลกยุคดิจิทัล การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ จึงได้มีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานให้ตอบรับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่รูปแบบการทำงานและการประกอบอาชีพมีความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น

รวมถึงจัดทำโครงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อตอบโจทย์รูปแบบการทำงานวิถีใหม่ให้กับแรงงานในระบบการจ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ การที่ภาคเอกชนอย่างแกร็บเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนคนไทยให้มีโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”

ภายในงาน แกร็บ ประเทศไทย ได้เผยภาพรวมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล อันได้แก่

  • การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันอย่างแกร็บ ได้ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับผู้คนมากมาย เพื่อสนับสนุนรูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่นและมีอิสระ แกร็บได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้แพลตฟอร์มของเราในการหารายได้ผ่านการให้บริการอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น บริการเรียกรถ หรือเดลิเวอรี โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา หรือแม้แต่ผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ก็สามารถสมัครเป็นพาร์ทเนอร์คนขับได้ ทั้งยังมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานผ่านโปรแกรม GrabBenefits อาทิ การทำประกันอุบัติเหตุ การให้สินเชื่อ หรือแม้แต่ส่วนลดจากพันธมิตร เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บตั้งเป้าในการมีส่วนร่วมผลักดันมาตรฐานรูปแบบการทำงานแห่งโลกยุคใหม่โดยเน้นไปใน 5 ด้าน (5 อ.) อันได้แก่ การส่งเสริมรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและมีอิสระ การเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย การอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น การพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างความอุ่นใจ และการส่งเสริมการอดออมและบริหารทางการเงิน
  • การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) การส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่แกร็บมุุ่งผลักดันมาโดยตลอด ดังนั้น แกร็บ จึงได้ริเริ่มและดำเนินโครงการ GrabAcademy เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหาร ขณะเดียวกัน แกร็บยังได้ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ AI อาทิ บริการสินเชื่อแบบผ่อนจ่ายรายวัน และบริการผ่อนชำระสินค้า เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมขยายการเข้าถึงความรู้ใน GrabAcademy ไปยังกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับสูงวัย พร้อมตั้งเป้าให้ขยายการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น 
  • การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางสังคมที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการขนส่งแกร็บ ได้ริ่เริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ อาทิ ฟีเจอร์งดรับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติเมื่อสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด หรือฟีเจอร์พิเศษที่ชวนให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการบริจาคเงินเพื่อสมทบในการปลูกป่า และล่าสุดกับการประกาศเป้าหมายระยะยาวในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ EV ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดภายในปี 2569  ทั้งยังได้ร่วมกับสถาบันการเงิน และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพัฒนาโปรแกรม ‘สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ’ เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน” ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งว่า “ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่แพลตฟอร์มเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบาย กฎหมาย และการกำกับดูแลต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างต่อการพัฒนานวัตกรรม จึงจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ทางด้าน นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า “ ในบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัล เราสามารถมองเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมหาศาลในการดำเนินธุรกิจ แต่อีกหนึ่งมุมที่เราไม่ควรมองข้าม ก็คือ จะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้

ดังนั้น ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แกร็บ จึงสามารถมีบทบาทสำคัญในการใช้ความเชี่ยวชาญของตน ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลเชิงลึก หรือด้านนวัตกรรม ในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม”

สามารถติดตามรายละเอียดของงาน GrabNEXT ได้ที่เว็บไซต์ www.grab.com/th/grabnext/

สามารถดูรายละเอียดข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565  ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการ (ESG) ระดับภูมิภาคของ แกร็บ ได้ที่ Annual Environment, Social and Governance (ESG) Report