อีริคสัน (NASDAQ: ERIC) ขยายแพลตฟอร์ม 5G แบบ end-to-end ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ลงในพอร์ตEricsson Radio System เสริมศักยภาพของผู้ให้บริการไทยในการเปิดและปรับใช้เครือข่ายสัญญาณ 5G ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อีริคสันยังเสริมความแข็งแกร่งของโซลูชั่นส์ลำเลียงข้อมูลบนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่แบบ end-to-end ด้วยการผสานความรู้ความชำนาญด้านสัญญาณวิทยุของอีริคสันเข้ากับสุดยอดเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูลจากจูนิเปอร์ เน็ตเวิร์คส์ และ ECI
RAN Compute – สถาปัตยกรรมเพื่อความยืดหยุ่นที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
อีริคสันเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ RAN Compute ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ให้บริการที่ต้องการความยืดหยุ่นในการเปิดใช้ฟังก์ชั่นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับโครงสร้างเครือข่ายวิทยุ (Radio Access Network – RAN) ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ RAN Compute เป็นสถาปัตยกรรมที่ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถปรับแบ่งการใช้งาน RAN ได้อย่างที่ต้องการ
อาทิ การส่งสัญญาณ (beamforming) และการควบคุมสัญญาณวิทยุ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับแต่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน พร้อมกับลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของ (total cost of ownership) ลงด้วยได้ในเวลาเดียวกัน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ RAN Compute ใหม่นี้จะรวมแถบคลื่นความถี่ในปัจจุบันทั้งหมดเข้ากับผลิตภัณฑ์ RAN Compute ใหม่อีกสี่ตัวที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นถึงสามเท่า โดยผลิตภัณฑ์ใหม่สองตัวคือ RAN Compute Baseband จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเปิดใช้ฟังก์ชั่นส์ RAN ต่าง ๆ ได้จากส่วนกลาง หรือที่สถานีส่งสัญญาณ
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่อีกสองตัวจะเป็น RAN Compute Radio Processor ที่จะนำการใช้งานฟังก์ชั่นส์ RAN มาเสริมประสิทธิภาพของสัญญาณบรอดแบนด์ เพื่อให้ใช้เวลาในการรับส่งข้อมูลน้อย (ultra-low latency) และไม่กินพื้นที่
นางนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นอกจาก 5G จะใช้เวลาในการรับส่งข้อมูลน้อยแล้ว ยังสามารถทำงานได้ไวเป็นพิเศษ และไว้วางใจได้ 5G จึงเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 สำหรับผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เราเปิดตัวในวันนี้นั้น จะช่วยขยายแพลตฟอร์ม 5G ในประเทศไทยให้กว้างขึ้นและมีความพร้อมมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการในไทยสามารถเปิดใช้บริการ 5G ได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น”
จากรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2566 ปริมาณการใช้ข้อมูล ทั่วโลกนั้นจะเติบโตในอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของของข้อมูลสัญญาณมือถือทั่วโลกนั้นจะอยู่บนเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าข้อมูลบน 4G/3G/2G ในปัจจุบันรวมกันทั้งหมดถึง 1.5 เท่า
ดังนั้นโครงข่ายสัญญาณอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่จะต้องรับมือกับปริมาณการใช้ข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ แนวโน้มในการใช้ข้อมูลของคนไทยนั้นไม่ได้ต่างไปจากประชากรในประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลบนเครือข่ายส่วนใหญ่ในโลกจะอยู่ในรูปแบบของวีดีโอ พฤติกรรมการใช้งานเหล่านี้เป็นการผลักดันให้โครงข่ายเตรียมพร้อมรับมือกับรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นางนาดีน อัลเลน ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “เหตุผลที่ 5G ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งทั่วโลกและในไทยนั้น เนื่องมาจากผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้ 4G และ 5G ร่วมกัน ซึ่งอีริคสันมีพอร์ตโซลูชั่นส์เครือข่ายที่พร้อมใช้งานทันทีสำหรับระบบ 5G เราจึงเป็นพันธมิตรสำหรับผู้ให้บริการในไทย ที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถปรับเปลี่ยนจากการใช้งาน 4Gไปสู่ 5G ได้อย่างราบรื่น”
เปลี่ยนถ่ายโครงข่ายได้อย่างราบรื่นด้วย Ericsson Spectrum Sharing
พร้อมกันนี้ อีริคสันยังได้เปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่สำหรับ Ericsson Spectrum Sharing ที่จะขยายขอบเขตการใช้งานบน 5G ของ Ericsson Radio System ให้ครบวงจร พร้อมเปิดโอกาสแก่ผู้ให้บริการที่เริ่มเข้าสู่ระบบ 5G และช่วยเร่งขยายพื้นที่บริการให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
Ericsson Spectrum Sharing ช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายโครงข่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น เพราะสามารถรองรับระบบ 4G และ 5G ภายในคลื่นความถี่เดียวกันได้ในเวลาเดียวกันด้วยการใช้ Ericsson Radio System และสามารถปรับเปลี่ยนระบบได้ทันทีเมื่อพร้อม ผลิตภัณฑ์ของ Ericsson Radio System ตั้งแต่ปี 2558 สามารถใช้ฟังก์ชั่นใหม่นี้ได้ทันทีผ่านการติดตั้งซอฟต์แวร์แบบรีโมต
ประสิทธิภาพใหม่นี้ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมระดับประเทศได้อย่างที่ต้องการ เพราะมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับกลยุทธ์การเปลี่ยนถ่ายได้หลากหลายกว่า ขจัดความจำเป็นที่จะต้องแบ่งพื้นที่บนคลื่นความถี่ไว้ให้สำหรับระบบ 5G โดยเฉพาะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพของระบบ 4G ลดลง โซลูชั่นส์ Ericsson Spectrum Sharing นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าสู่ผู้ใช้งานผ่านวิธีที่คุ้มค่าที่สุด
ยกระดับประสิทธิภาพในพื้นที่เขตเมืองด้วย Street Macro และการลำเลียงข้อมูลแบบผสมผสาน
ภายในวันเดียวกันนี้ อีริคสันยังได้ประกาศเปิดตัวโซลูชั่นส์ลำเลียงข้อมูลใหม่ที่ได้รับการพัฒนาปรับแต่งให้เป็นโซลูชั่นส์ Street Macro ที่สมบูรณ์และครบครันในทุกองค์ประกอบเพื่อรองรับการใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตร (millimeter wave 5G) เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารข้อมูลในบริเวณที่มีการใช้งานสูง ซึ่งก็คือพื้นที่ในบริเวณตัวเมืองนั่นเอง
ซึ่งโซลูชั่นส์ทั้งหมดนี้จะพร้อมออกสู่ตลาดภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
โซลูชั่นส์ลำเลียงข้อมูลแบบ end-to-end สำหรับ 5G (End to end transport for 5G)
เนื่องด้วยอีริคสันให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อฟังก์ชั่นส์ใช้งานของระบบสัญญาณวิทยุและระบบเครือข่ายหลัก อีริคสันจึงได้พัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์เฉพาะเพื่อการสื่อสารในส่วนของ backhaul และ fronthaul โซลูชั่นส์ในการลำเลียงข้อมูลที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ให้บริการอย่างแพร่หลาย
สำหรับทั้งระบบ 4G และ 5G คือ ยูบิควิตัสโซลูชั่นส์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ backhaul ของอีริคสัน สำหรับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี อย่าง Router 6000 ได้รับการตอบรับและช่วยเสริมประสิทธิภาพของผู้ให้บริการเกือบ 60 รายทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการกว่า 110 รายทั่วโลกก็ยังให้ความไว้วางใจในโซลูชั่นส์ MINI-LINK ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟที่รองรับการใช้งานระบบ 5G ของอีริคสันด้วยเช่นกัน
อีริคสันยังได้จับมือกับจูนิเปอร์ เน็ตเวิร์คส์ เพื่อเสริมความสมบูรณ์แบบของพอร์ตผลิตภัณฑ์แบบ end-to-end ในระบบ 5G โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Router 6000 ของอีริคสันจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อนำมาใช้คู่กับโซลูชั่นส์ edge และ core ของจูนิเปอร์ ทำให้การเชื่อมต่อจากสถานีส่งสัญญาณไปที่ระบบ core มีความเสถียรและลื่นไหล จึงรับประกันได้ในประสิทธิภาพ คุณภาพ และความสะดวกง่ายดายของการใช้ระบบ 5G
ผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยของจูนิเปอร์จะถูกนำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชั่นส์ของอีริคสัน เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยให้กับเครือข่ายสัญญาณอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ของลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปลอดภัยของเครือข่าย 5G ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตในแบบ end-to-end
นอกจากนี้ อีริคสันยังได้เสริมประสิทธิภาพบริการในส่วนของ optical transport ในบริเวณพื้นที่เขตมหานคร โดยการร่วมมือกับ ECI ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นส์ elastic network ระดับสากล เพื่อมอบโซลูชั่นส์ optical transport แบบใหม่ล่าสุดให้แก่ผู้ให้บริการและลูกค้าสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
“โดยหลักๆ แล้ว เราสามารถมอบโซลูชั่นส์ที่ครอบคลุมแบบ end-to-end สำหรับเครือข่ายสัญญาณอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ให้กับผู้ให้บริการในไทย ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเปิดให้บริการระบบ 5G ได้เร็วขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์ 5G ที่เหนือกว่าสู่ผู้บริโภคชาวไทย” นางนาดีน อัลเลน กล่าวสรุป