หลังจากดำเนินการมา 27 ปี สัญญาสัมปทานของดีแทคได้สิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงนั้น ดีแทคได้จัดหาคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อการให้บริการ และยังสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานภายใต้สัญญาสัมปทานที่ทำกับ CAT เพื่อให้บริการการสื่อสารไร้สายแก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากนี้ ดีแทคยังมีโอกาสที่จะมีคลื่นความถี่เพิ่มเติมจากการประมูลความถี่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมเพื่อเสริมสร้างพอร์ทความถี่ที่ให้บริการ และโครงข่ายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 จำนวนฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 21.3 ล้านราย ประมาณ 99% ของจำนวนนี้ได้ลงทะเบียนภายใต้ดีแทค ไตรเน็ต (DTN)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz จาก กสทช. การเพิ่มพื้นที่ให้บริการโครงข่าย ‘dtac-T Turbo’ (ดีแทคเทอร์โบ) ก็เดินหน้าได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยมีจำนวนสถานีฐานที่ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้วเกือบ 6,000 สถานีฐาน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2561
นอกเหนือจากนั้น ดีแทคยังได้พัฒนาโครงข่าย 2100 MHz อย่างต่อเนื่องทั้งในการเพิ่มพื้นที่การครอบคลุมสัญญาณ และความจุของโครงข่าย ซึ่งโครงข่ายโดยรวมของดีแทคครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ ดีแทคยังให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความจริงใจ และซื่อสัตย์ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และได้มีการสื่อสารกับลูกค้าอย่างเข้มข้นก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 รายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากบริการเสียงและข้อมูล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC สำหรับช่วงสามไตรมาสปีนี้ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) และรายได้จากบริการอื่นๆ
ถึงแม้ว่าดีแทคเริ่มชำระเงินให้กับ TOT ภายใต้สัญ[ญาการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ได้ทำลงนามกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2561 แต่ EBITDA margin สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ยังคงสูงอยู่ที่ 41.5% ของรายได้รวมทั้งหมด ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ EBITDA margin สำหรับช่วงสามไตรมาสนี้จะอยู่ที่ 45.0%
กำไรสุทธิสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 572 ล้านบาท เนื่องจากค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการลงทุนในการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และจากค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท จากการตกลงยุติข้อพิพาทการเป็นเจ้าของเสาสัญญาณกับทาง CAT ก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดลง
นอกจากนี้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) สำหรับช่วง 9 เดือนแรกนี้ยังคงแข็งแกร่งที่ 11,600 ล้านบาท และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.7 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.8 เท่า ดีแทคมีเงินสด ณ สิ้นสุดไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท
ดีแทคได้ปรับการประมาณการผลประกอบการสำหรับปี 2561 โดยปรับลดรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ลงในระดับตัวเลขหลักเดียวช่วงต่ำ (low single digit decline), EBITDA margin อยู่ในช่วง 36%-38%, และ CAPEX อยู่ในช่วง 18,000 – 20,000 ล้านบาท
อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เรามีการเตรียมการในช่วงสิ้นสุดสัมปทานไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าของเราจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
เป้าหมายสำคัญในตอนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ให้บริการโครงข่าย 2300 MHz และการโอนย้ายลูกค้าที่เหลือมาใช้บริการบนโครงข่าย DTN ด้วยโอกาสในการครอบครองช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพิ่มขึ้นเพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพอร์ทคลื่นความถี่ที่ให้บริการ ดีแทคจะอยู่ในตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้นในการแข่งขัน และก้าวทันการเติบโตของตลาดได้”
ดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงินของดีแทค กล่าวว่า “แม้ว่าเราได้ลงทุนอย่างหนักเพื่อเร่งการเพิ่มพื้นที่ให้บริการโครงข่ายความถี่ 2300 MHz กระแสเงินสดจากการดำเนินการของเรายังคงแข็งแกร่ง รายได้จากการให้บริการยังถูกกดดันชั่วคราวจนถึงปลายไตรมาสที่สาม เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการหมดอายุสัญญาสัมปทาน
อย่างไรก็ตาม เราบริหารจัดการรักษา EBITDA margin ให้อยู่ในระดับเหนือกว่า 40% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ฐานะทางการเงินของเราอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยืดหยุ่นต่อการลงทุนในอนาคต”