คลังเก็บ

ดีแทครายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท

 

ในไตรมาสที่ 1/62 ดีแทคยังคงขยายและปรับปรุงโครงข่ายหลังจากการขยายโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาส 4/61 โดยประสบการณ์การใช้งานและความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อโครงข่ายดีแทคดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์จากระบบสัมปทานในเดือนธันวาคม 2561 มาเป็นระบบใบอนุญาต

นอกจากนั้นดีแทคยังได้เปิดตัวแคมเปญ “Never Stop Caring” หรือ “สัญญาว่า…จะไม่หยุดดูแลกัน” เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการบนโครงข่าย 2300 MHz ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มอบประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ดีที่สุด

ณ สิ้นไตรมาส 1/62 ฐานลูกค้าทั้งหมดอยู่ที่ 20.7 ล้านเลขหมาย และมีจำนวนสถานีฐานอยู่ที่ 15,400 สถานีซึ่งเพิ่มขึ้น 2,700 สถานีในช่วงไตรมาสนี้ ลูกค้าประมาณ 7.8 ล้านราย หรือร้อยละ 76 ของฐานลูกค้า 4G ได้ใช้บริการบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 MHz ทั้งนี้โครงข่ายโดยรวมของดีแทคครอบคลุม 94%ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ

รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC สำหรับไตรมาส 1/62 ลดลงร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากผู้ใช้บริการเติมเงิน และจากบริการระหว่างประเทศต่างๆในช่วงที่ดีแทคกำลังสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้าต่อโครงข่ายของดีแทค

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ใช้บริการรายเดือนยังคงเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนจากระบบเติมเงินมาเป็นระบบรายเดือน และแคมเปญอุปกรณ์ที่น่าสนใจต่างๆ EBITDA สำหรับไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุนหลังการสิ้นสุดระบบสัมปทาน เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียม (Regulatory costs) ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเช่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานกับ CAT และค่าโรมมิ่งบนโครงข่าย 2300MHz กับ TOT รวมถึงการจัดการต้นทุนที่ดีของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร EBITDA margin สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 34.7 CAPEX ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 4.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 28% ของรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC

กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการให้บริการจะลดลง ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างต้นทุนใหม่เต็มไตรมาสเป็นครั้งแรกหลังการสิ้นสุดระบบสัมปทาน ซึ่งรวมถึงการลดลงของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย อย่างไรก็ตามกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) สำหรับไตรมาส 1/62 กลับมาเป็นบวกที่ 1.7 พันล้านบาท แม้ว่ายังมีการดำเนินการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.3 เท่า และมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1/62 จำนวน 1.28 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่ดีแทคได้มุ่งเน้นในขณะนี้ได้แก่ 1) ปรับปรุงโครงข่ายและประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า 2) สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ดีแทค และ 3) ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดีแทคคาดว่าจะกลับมาเติบโตในปี 2562 โดยยังคงมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการดำเนินงาน นอกจากนี้ดีแทควางแผนที่จะใช้เงินลงทุนในปี 2562 จำนวนประมาณ 1.3 – 1.5 หมื่นล้านบาท

อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค กล่าวว่า “ในไตรมาสแรกของปี 2562 ดีแทคได้สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อโครงข่ายดีแทคหลังจากสิ้นสุดระบบสัมปทาน ด้วยการขยายโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาสที่ 4/61 และต่อเนื่องมาในไตรมาส 1/62 โดยเริ่มที่จะเห็นผลในเชิงบวกแล้ว ในส่วนของการให้บริการในระบบรายเดือนยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้บริการในระบบเติมเงินยังคงต้องมีการปรับปรุง เราจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าระบบรายเดือนของเรา และใช้วิธีการแบ่งกลุ่มการตลาด (segmentation approach) เพื่อดึงดูด และเข้าถึงลูกค้าเติมเงินให้กลับมาใช้ดีแทคอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนเล่นเกม”

ดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงินของดีแทค กล่าวว่า “แม้ว่าการการเติบโตของรายได้จะอยู่ภายใต้ความท้าทาย แต่ประสิทธิภาพการดำเนินงานยังคงดีอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 1/62  เป็นไตรมาสแรกที่ดีแทคดำเนินการภายใต้ระบบโครงสร้างต้นทุนใหม่ที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียม และค่าตัดจำหน่ายโครงข่ายภายใต้สัมปทานที่ต่ำลง แต่ค่าใช้จ่ายของค่าเช่ากับ CAT ค่าโรมมิ่งกับ TOT และค่าตัดจำหน่ายของใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 และ 1800MHz ได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามต้นทุนอื่น ๆ อันประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของโครงข่าย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้หลังจากการลงทุนด้านโครงข่ายครั้งใหญ่ในไตรมาส 4/61 สถานะทางการเงินของเรายังคงแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น”