คลังเก็บ

“ดีแทค ทิ้งให้ดี” จับมือ SMART ชวนลูกบ้านโครงการจัดสรรภายใต้การดูแลมากกว่า 300 โครงการทั่วกรุงเทพฯ รีไซเคิลซากมือถือ อุปกรณ์เสริมเก่า และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พิชิตเป้าหมาย ZERO Landfill

การระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและอุปกรณ์มือถือต่อคนต่อครัวเรือนสูงขึ้น ผ่านวิถีใหม่ทำงานและเรียนที่บ้าน ปัจจุบัน เฉลี่ยต่อคนจะมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5 ชิ้น มีเลขหมายที่ใช้ในไทยกว่า 142 ล้านเลขหมาย โดย 45 ล้านเลขหมายใช้กับอุปกรณ์ไอที และ 97 ล้านเลขหมายใช้กับสมาร์ทโฟน 

“ดีแทค ทิ้งให้ดี” จึงร่วมมือกับ SMART ผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรรกว่า 300 โครงการทั่วกรุงเทพฯ จัดแคมเปญ SMART “A Love To Give” รับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ ครั้งใหญ่ภายในโครงการที่ดูแลให้กับภาคีต่างๆ รวมถึง ดีแทค ที่รับซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ซึ่งรวมถึง มือถือเก่า และอุปกรณ์เสริมที่เสื่อมสภาพ เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ไม่เหลือเศษซากที่จะนำไปทิ้งด้วยกันฝังกลบได้อีก หรือ Zero Landfill

dtac

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคกำหนดเป้าหมายที่จะจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทมือถือและอุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำธุรกิจให้บริการด้านโทรคมนาคมของเราอย่างจริงจัง ผมจึงขอเชิญชวนลูกบ้านทุกท่านที่เห็นสัญลักษณ์ ดีแทค ทิ้งให้ดี ได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านทุกประเภท มาทิ้งกับเรา

ซึ่งท่านสามารถไว้วางใจได้ว่า ขยะทุกชิ้นจะได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยผู้ให้บริการการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 ดีแทคได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์รับและจัดการกับซากมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วถึง 2 ล้านชิ้น ช่วยลดคาร์บอนได้รวม 32 ล้านกิโลคาร์บอน เรากำหนดจะขยายจุดรับสู่กลุ่มอสังหาฯ หลังจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พุ่งช่วงโควิด หวังช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2% จากตลาดมือถือ 20.9 ล้านเครื่อง*”

วิธีการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ของ ดีแทค ทิ้งให้ดี เริ่มต้นด้วยการทำลายหน่วยความจำในตัวเครื่อง ลบข้อมูลถึง 3 รอบ และเขียนข้อมูทลทับอีก 1 รอบ ด้วยมาตรฐาน NIST 800-88R1ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลที่ใช้มากที่สุดทั่วโลก จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการแยกชิ้นส่วน ซึ่งทำได้แล้ว 96% ยังเหลืออีก 4% ที่ต้องนำไปผ่านกระบวนการพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเทรนด์โลกสู่ Circular Economy รูปแบบการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทค มี 2 วิธีหลัก คือ การนำกลับมาใช้ในตลาดอื่น (Remarket) โดยนำเครื่องที่หน้าร้าน หรือ demo ที่ยังสามารถใช้งานได้ไปจำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการใช้ราคาประหยัด และการรีไซเคิล (Recycle) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพแล้ว

นายสุวัฒน์ กุลไพจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร กล่าวเสริมว่า “ดีแทค เป็นหนึ่งในพันธมิตรภายใต้แคมเปญ SMART – A love To Give ของ SMART ที่จัดให้ลูกบ้านกว่า 300 โครงการ นำของที่ไม่ใช้แล้ว มาบริจาคไปตามองค์กรต่างๆ โดยดีแทคเข้ามาสนับสนุนในการนำของอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือใช้ของลูกบ้านไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำกลับเข้าระบบเพื่อบริหารจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป”

SMART ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทที่รับบริหารนิติบุคคลที่ดูแลแค่พื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น เรายังดูแลครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิตของลูกบ้านในทุกๆโครงการ เพื่อให้ลูกบ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เราให้ความสำคัญกับการทำ Sustainability ในส่วนที่สามารถทำได้ และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกบ้านของ SMART เสมอมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการ SMART – A Love to Give และรวมถึงโครงการรักษ์โลกอย่าง SMART Eco Caring Community ของเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

บรรยายภาพ (01_dtacThinkHaiD) :

ทีม “ดีแทค ทิ้งให้ดี” รับมอบขยะอิเล็กทรอนิกส์จากลูกบ้านหมู่บ้าน Pleno ติวานนท์ อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างดีแทคและ SMART service ในการจัดการรีไซเคิลซากมือถือ อุปกรณ์เสริมเก่า และขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิชิตเป้าหมาย ZERO Landfill โดยมี TES เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีแทคเลือกในฐานะผู้ให้บริการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2555 

และเราร่วมจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ใช้บริการรวมแล้วมากกว่า 2 ล้านชิ้น ลดคาร์บอนได้รวม 32 ล้านกิโลคาร์บอน โดยสามารถรีไซเคิลได้ 97% ขึ้นไป ไม่มีการฝังกลบ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบัน TES รับรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ​350 – 400 ตันต่อเดือน บริษัทตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ 1 พันล้านกิโลกรัมอย่างปลอดภัยและยั่งยืนภายในปี 2030

*จากสถิติรายงานยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในปี 2564 ของ IDC