ดีแทคเปิดสนามทดสอบ 5G ทั้งพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพื้นที่ EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อทดสอบการใช้งานจริง (Use case) โดยร่วมมือกับพันธมิตร CAT และทีโอที สำหรับการทดสอบ 5G ดีแทคได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากอีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย
พร้อมแนะภาครัฐควรจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งย่านสูง-กลาง-ต่ำ และระบุช่วงเวลาจัดสรรชัดเจน และแผนปรับปรุงคลื่นความถี่ (Spectrum Refarming) เพื่อพัฒนาสู่ 5G อย่างยั่งยืน และหาความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า “บริการ 5G จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในประเทศ ภาครัฐจะต้องเริ่มต้นตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทดสอบทดลอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง IoT (Internet of Things), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) หุ่นยนต์ (Robotic) ระบบคลาวน์ (Cloud Computing) ผสานกับ 5G ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างการใช้งานจริง (Use case) ในอนาคต
ทางกระทรวงฯ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมในการทดสอบ 5G ร่วมกัน และจัดทำแผนสู่ 5G (5G Road map) พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับ กสทช. เพื่อกำหนดอนาคต 5G และแผนการทดสอบร่วมกัน”
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการนำ 5G มาใช้ปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องเริ่มต้นที่การสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐบาล กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ใช้งาน และการทดสอบโครงการธุรกิจตามการใช้งานจริง (Use case) ร่วมกัน เพื่อนำสู่การวิเคราะห์ภาพรวมทั้งเทคโนโลยี และข้อกฎหมายสู่บริการเพื่อผู้ใช้งาน และหาจุดสมดุลย์ของความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบนิเวศ จึงร่วมกับ CAT และทีโอที เป็นพันธมิตรในการทดสอบ 5G ร่วมกัน”
ความร่วมมือในการทดสอบ 5G ของทั้ง 3 องค์กร ได้ทำการทดสอบรูปแบบใช้งาน (Use case) ที่เหมาะกับประเทศไทย และเพื่อพัฒนาสู่ 5Gอย่างยั่งยืน และหาความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ
สำหรับทีโอทีได้ร่วมมือในการทดสอบโดยการนำโครงการเสาอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโพล (Smart pole) ซึ่งเป็นเสาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยุค 5G ที่ออกแบบให้ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure sharing) โดย เสาอัจฉริยะ Smart pole นี้จะถูกนำไปทดสอบ 5G Testbed ในพื้นที่ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. มาร่วมทดสอบ 5G
ดร. มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที (จำกัด) มหาชน กล่าวย้ำว่า “ความร่วมมือการทดสอบ 5G เป็นสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ สำหรับทีโอทีมองว่าปัจจัยที่สำคัญต้องมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเสาอัจฉริยะ (Smart pole) ซึ่งจะทำให้การขยายสัญญาณ 5G และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมได้มากขึ้น
รวมถึงเป็นการลดต้นทุนและเวลาของประเทศในการติดตั้งซ้ำซ้อน ที่สำคัญสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทีโอที มีศักยภาพความพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาโครงข่าย 5G ของประเทศ ทั้งด้านเงินทุน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และบุคลากรที่มีประสบการณ์ที่พร้อมจะร่วมเป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G”
สำหรับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้เห็นความสำคัญกับความร่วมมือทดสอบ 5G ร่วมกันทั้งการใช้โครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน สำหรับการทดสอบ CAT นำเสนอโครงการ “PM 2.5 Sensor for All” วัดค่าคุณภาพอากาศ มาร่วมทดสอบ
พันเอก ดร. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับ CAT เราได้ร่วมมือทดสอบ 5G โดยนำโครงการ “PM2.5 Sensor for All” เข้าร่วม โดยข้อมูลของคุณภาพอากาศที่ได้ จะจัดเก็บไว้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบคลาวด์ ผ่านเซ็นเซอร์ในพื้นที่แต่ละแห่ง
ในอนาคตเมื่อใช้งานบนโครงข่าย 5G แล้ว จะสามารถยกระดับจาก IoT สู่ massive IoT โดยการติดตั้งเซ็นเซอร์จำนวนมากได้เพิ่มขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น และยังสามารถนำมาออกแบบสู่แหล่งข้อมูลกลางที่นำเก็บค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากทุกพื้นที่นำมาประมวลผลร่วมกัน (Calibrate) เป็นบิ๊กดาต้า (Big Data) บนคลาวด์ที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศของไทยมาตรฐานกว่าที่เคยมีรายงานมาก่อน”
ความร่วมมือในการทดสอบ 5G ระหว่าง 3 องค์กร คือ ดีแทค ทีโอที และ CAT เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในส่วนของ 1. การใช้ทรัพยากรร่วมกัน(Resource sharing) ทั้งอุปกรณ์โครงข่ายและคลื่นความถี่ต่างๆ 2.การนำความรู้มาร่วมกัน (Knowledge sharing) โดยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญโทรคมนาคมของแต่ละฝ่ายมาแบ่งปันและต่อยอดการทดสอบร่วมกัน และ 3. การแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน (Experience sharing) ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ต้องเริ่มต้นใหม่แต่สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มารวมกันเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า รวมถึงศึกษาถึงข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในด้านเทคโนโลยีและระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ
สำหรับดีแทคได้ยื่นดำเนินการขอนุญาตทดสอบ 5G ต่อ กสทช เป็นที่เรียบร้อย ทั้งข้อเสนอในการใช้คลื่นความถี่ และการทดสอบทั้งแบบStandalone (SA) ซึ่งเป็นการทดสอบโดยใช้เฉพาะคลื่น 5G และ Non-Standalone (NSA) หรือการทดสอบการทำงานของเทคโนโลยี 5Gร่วมกับ 4G
โดยดีแทคจะทดสอบทั้ง การทดสอบในห้องปฎิบัติการ (Lab Testing) ก่อนนำสู่การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง และการทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง (Live Environment Testing เช่น พื้นที่บริเวณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ เป็นต้น และรวมถึง การทดสอบทางไกล (Remote Testing) เป็นการทดสอบโดยเชื่อมต่อสถานีฐาน 5G จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปยังโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก (Core Network) ต่างพื้นที่ ในโครงการทดสอบ 5G EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อใช้ทดสอบกรณีใช้คลื่น 5Gต่างพื้นที่ร่วมกัน ตัวอย่างเช่นการรักษาผ่านทางไกล หรือสมาร์ทเฮลธ์แคร์(Smart Healthcare) เป็นต้น
ดีแทคได้จัดทำโซลูชั่น “ฟาร์มแม่นยำ” เพื่อเตรียมพร้อมสู่ 5G ที่สามารถปลดล็อกมูลค่ามหาศาลให้แก่เกษตรกรของประเทศไทยได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการทำเกษตรกรรมยุคใหม่จะต้องใช้ประโยชน์ของดิจิทัลและความสามารถของ 5G มาต่อยอดเพื่อทำรายได้เพิ่มมากขึ้น และยังเตรียมยกระดับสู่โซลูชั่นฟาร์แม่นยำ (Precision Farming) แบบเรียลไทม์ด้วยการใช้โดรน 5G ต่อไป
เรียกร้องให้ทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งต่อไป
นางอเล็กซานดรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “คลื่นความถี่คือสิ่งสำคัญยิ่งในการปูพื้นฐานสู่ 5G เพราะการใช้งานและการทดสอบบริการ (Use case)ต่างๆ จะทำให้พิสูจน์ถึงความต้องการใช้คลื่นความถี่ที่กว้างและ 5G ต้องการใช้ทั้งคลื่นย่านความถี่สูง–กลาง–ต่ำ ดังนั้น จึงตอกย้ำว่าประเทศไทยควรทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นครั้งต่อไป รวมทั้งรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบัน การออกแบบการประมูลที่ดีจะทำให้กำหนดราคาคลื่นความถี่ที่ยุติธรรมในการทำตลาด และป้องกันราคาประมูลที่สูงเกินจริง”
ดีแทคเชื่อว่ารากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสู่ 5G จะต้องมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งก่อนที่จะพัฒนาสู่เทคโนโลยี 5G และนำมาเปิดให้บริการแก่สาธารณะได้ โดยต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
1. แผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนและการนำคลื่นย่านความถี่ต่างๆ ที่ชัดเจนมาใช้งาน เพราะการจะให้บริการ 5Gได้นั้นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพออย่างน้อย 100 MHz ต่อราย และจะต้องมีการกำหนดราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและยืดหยุ่นในการลงทุน
2. ภาครัฐต้องสนับสนุนแนวทางกำกับดูแลในการขยายโครงข่าย 5G ในเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) หรือจัดทำหน่วยงานกลางรับผิดชอบในรูปแบบ Infrastructure Company โดยจะต้องสนับสนุนให้ใช้ภาคเอกชนลงทุนได้มีประสิทธิภาพสูงสุดและขยายโครงข่ายได้รวดเร็ว ซึ่งดีแทคพร้อมที่จะประสานงานและสนับสนุนภาครัฐทุกหน่วยงาน
3. ความร่วมมือคือหลักการสำคัญที่จะพัฒนา 5G รวมทั้งการทดลองและทดสอบจะต้องร่วมประสานกันระหว่างภาครัฐและอุตสาหกรรม และการที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมส่งเสริมการใช้ 5G ให้ขยายออกไป และรวมถึงการเริ่มต้องสมาร์ทซิตี้ และการใช้ 5G สำหรับสาธารณะ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้น และสามารถพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน