“ดีแทค” ผนึก 4 กระทรวงหลัก ประกาศความสำเร็จสร้างครูดิจิทัล 1 ล้านคน ดันร้านค้าชุมชนสู่ออนไลน์กว่า 340,000 ราย พร้อมขยายโมเดล “ชุมชนต้นแบบเน็ตอาสาประชารัฐ” ปูพรมสู่ประเทศไทย 4.0 เต็มรูปแบบ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปฏิบัติภารกิจแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ Digital Thailand Inclusion
ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามแนวทางประชารัฐ โดยหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล (Digital literacy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเป็นกำลังสำคัญ เพื่อให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ร่วมมือกับดีแทคในการส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนต้นแบบเน็ตอาสาประชารัฐ” ซึ่งเป็นโมเดลสังคมดิจิทัลในระดับชุมชน ที่กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านเป็นวิสาหกิจชุมชน และใช้ช่องทางออนไลน์ในการเพิ่มรายได้ ใช้หลักการตลาดนำการผลิต
ซึ่งจากความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับที่เกิดขึ้นระหว่างดีแทคและ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลิตครูดิจิทัลแล้วจำนวนกว่า 1 ล้านราย และผลักดันร้านค้าชุมชนสู่ออนไลน์แล้วกว่า 340,000 ราย
ปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างมูลทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของจีดีพี และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ การขยายโมเดล “ชุมชนต้นแบบเน็ตอาสาประชารัฐ” จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างแนบแน่น
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) หรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสร้างโอกาสและทำกิจกรรมต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับประเทศไทยนั้น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลทางด้านการเข้าถึง (Accessibility) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมจีเอสเอ็มระบุว่า ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 62% ของจำนวนประชากร และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากนโยบายเน็ตประชารัฐของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าหมายในการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าสู่หมู่บ้านมากกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในด้านทักษะและความรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy gap) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์เพื่อการค้าออนไลน์ (Digital commerce)
ทั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดระหว่างดีแทคและ 4 กระทรวงหลักในการขยายโมเดล “ชุมชนต้นแบบเน็ตอาสาประชารัฐ” จะช่วยทำให้การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ.2562 ดีแทคมีแผนในการขยายความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขายออนไลน์ และต่อยอดการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงามและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
“ทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Digital literacy ถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมดิจิทัล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกกลุ่มชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสังคมตามวิสัยทัศน์ Empowering societies
โดยผนึกภาคีภาครัฐในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เพื่อให้สอดรับกับโครงการนโยบายประชารัฐของรัฐบาลและกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติหรือ UN SDG ข้อที่ 10 ที่ว่าด้วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ” นางอเล็กซานดรากล่าว
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแก่ชุมชนทั่วไทย ซึ่งเป็นรากฐานในการเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) ดีแทค จึงได้ร่วมมือกับ 4 กระทรวงฯ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดงาน “ดีมา Get ดี Market” ซึ่งรวบรวมร้านค้าออนไลน์ต้นแบบจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 40 ราย มาจัดแสดงออกบูธ เพื่อเป็นโอกาสให้บุคคลที่สนใจเรียนรู้ พัฒนาและต่อยอด ขยายโมเดลชุมชนดิจิทัลไปยังทั่วประเทศ
ทั้งนี้ งาน “ดีมา Get ดี Market” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม พ.ศ.2561 ณ ลานกิจกรรมสยามสแควร์วัน ตั้งแต่ เวลา 10.00-20.00น. โดยมีกิจกรรมให้ความรู้และการแสดงตลอดงาน พร้อมส่งเสริมใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัล
ในการนี้ ยังได้มีการมอบรางวัลสินค้าออนไลน์ โดยการคัดเลือกจากตัวแทนของ 4 กระทรวงฯ โดยมีผลดังนี้
1. รางวัลสุดยอดสินค้าชุมชนออนไลน์ระดับประเทศ
ปูไข่ดอง คลองขลุง – ปูไข่พรีเมี่ยม ตัวใหญ่ไข่แน่น ดองด้วยน้ำปลาสูตรพิเศษ
2. รางวัลสุดยอดสินค้าชุมชนออนไลน์ระดับภาค
ภาคเหนือ Sapawalaiphan งานผ้าปักมือ ชิ้นเดียวในโลก
ภาคกลาง น้ำพริกบ้านทนาย
ภาคอีสาน พิชญา ขนมนวัตกรรม 4.0 ขนมเปี๊ยะสด บำรุงหัวใจ ลดไขมันในเส้นเลือด
ภาคใต้ สวนลุงสุนทร
3. รางวัลต้นแบบสินค้าตามศาสตร์พระราชาออนไลน์
กล้วยพรจากแม่ วังกะพี้ ข้าวเหนียวสังขยาหน้าตาโดดเด่น จากภูมิปัญญาของชาวไทยทรงดำ
4. รางวัลต้นแบบสินค้าเน็ตประชารัฐออนไลน์
ข้าวเหนียวหน้าควายลุย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านอินเตอร์
5. รางวัลต้นแบบสินค้าชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ออนไลน์
หมาขายหมึก ปลาหมึกย่าง สด อร่อย พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด
6. รางวัลต้นแบบสินค้าหัตถกรรมในชุมชนท้องถิ่นออนไลน์
ผ้าไหมป้ามะลิ ผ้าซิ่นตีนแดง และผ้าพันคอริมแดง เอกลักษณ์และความโดดเด่นของบุรีรัมย์
7. รางวัลต้นแบบสินค้าศูนย์ดิจิทัลชุมชนออนไลน์
ข้าวหอมมะลิ Donwai ข้าวดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ปลูกแบบไร้สารเคมีทุกขั้นตอน
8. รางวัลต้นแบบสินค้าหัตถกรรมในชุมชนท้องถิ่นออนไลน์
บ้านพี่หลวงจักสาน สินค้าจักสานลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ยกระดับสู่ร้านค้าออนไลน์