เด็กๆ ที่ติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน อาจเผชิญภาวะที่เรียกว่า “Cabin fever” หรือสภาวะกดดันทางจิตใจที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านลบและความทุกข์ที่เกิดจากการถูกจำกัดพื้นที่ ตลอดจนความหงุดหงิดใจ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ กระสับกระส่ายและไม่มีสมาธิ ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ ผ่อนคลายภาวะ Cabin fever ได้ก็คือ การนอนและการออกกำลังอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากในการออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เด็กๆ มีวินัยในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากขึ้น
ดีแทคมี 5 ข้อแนะนำดีๆ มาฝากสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อการดูแลลูกหลานในช่วงอยู่บ้านยาวๆ ดังนี้
1.หมั่นพูดคุย อธิบายเหตุการณ์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยให้ลูกหลานเข้าใจถึงสถานการณ์ด้วยการอธิบายข้อมูลที่แท้จริงด้วยภาษาที่เรียบง่ายและเหมาะสมกับวัยของเขา สิ่งนี้จะช่วยลดความสับสน ความโกรธ ความเศร้าและความกลัว ที่อาจเกิดจากการรับข่าวสารที่ถาโถมบนโลกออนไลน์ได้
2.ออกแบบกิจกรรมเพื่อการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ
ลูกหลานที่กักตัวอยู่ในบ้านส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิง ขณะเดียวกัน พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถช่วยทำให้เวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่มีคุณภาพขึ้นได้ เช่นหรือ ช่วยเด็กๆ แบ่งเวลาทำกิจกรรมให้สมดุลกัน สำหรับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอย่างเกมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียกับกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถทำร่วมกับการวิดีโอคอลกับเพื่อนๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี
3.ตรวจสอบข่าว-อย่าเชื่อข้อมูลอะไรง่ายๆ
เพราะข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลผ่านสื่อออนไลน์มาถึงเราอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงของข่าวลือและข้อความที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการย้ำเตือนลูกหลานต่อการแยกแยะก่อนที่จะเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งบนโลกออนไลน์ โดยแหล่งข้อมูลควรมาจากพ่อแม้ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เชื่อถือได้
4.หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกหลาน
ในช่วงที่เด็กๆ ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อกับบุคคลแปลกหน้าหรือผู้ไม่ประสงค์ดีมากขึ้น เพราะหลายครั้งการปล่อยเด็กไว้กับโลกออนไลน์โดยที่ไม่มีการควบคุมหรือตรวจสอบ อาจทำให้พวกเขารู้สึกเคว้งคว้างได้ ดังนั้น การให้เวลากับเด็กๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำผ่านการพูดคุยและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และควรแนะนำเด็กๆ ว่าหากพบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือหวาดกลัว ควรปรึกษาพ่อและหรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ทันที
สำหรับเด็กบางคน อาจจะไม่แสดงพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากการใช้สื่ออนไลน์ ดังนั้น การเข้าไปพูดคุยและใช้เวลากับเด็กๆ มากขึ้น จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมที่ผิดแปลกได้อย่างทันท่วงที
5.สร้างวินัยในการชีวิตในแต่ละวัน
สิ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ ผ่อนคลายจากภาวะ Cabin fever ได้ก็คือ การนอนและการออกกำลังอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากในการออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำให้เด็กๆ มีวินัยในการใช้ชีวิตในแต่ละวันมากขึ้น ซึ่งอาจหมายรวมตั้งแต่เวลาในการรับประทานอาหารจนถึงเล่นเกม โดยควรเลือกกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ มีความสุขและไม่เครียดจนเกินไป
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ในภาวะอันยากลำบากเช่นนี้ ซึ่งมีเด็กๆ กว่า 5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบ หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่สำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างความเข้าใจและสร้างสมดุลต่อการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและความเสี่ยงอื่นๆ ที่ตามมากับโลกออนไลน์ ในช่วงปิดภาคเรียน ที่มีแนวโน้มว่า จำเป็นต้องขยายเวลาออกไปอีกนี้ จะมีวัยรุ่นที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและปลายมากกว่า 5 ล้านคน ที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอนานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และจะเผชิญความเสี่ยงออนไลน์หลายรูปแบบ
ดีแทคได้จัดค่ายออนไลน์ Young Safe Internet Leaders Cyber Camp สำหรับวัยรุ่นอายุ 13 – 18 ปี เพื่อเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้ใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์และสนุกสนาน เยาวชนที่เข้าร่วมแคมป์จะได้เรียนรู้เรื่องภัยร้ายต่างในโลกออนไลน์ และเทคนิคที่ช่วยให้สามารถเป็นผู้นำรุ่นเยาว์ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากวิทยากรที่มีชื่อเสียงมากมาย สามารถสมัครเข้าร่วมค่ายได้ที่ www.safeinternet.camp ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 เมษายน 2563”