คลังเก็บ

ดีแทคเผยผลการสอบทานสิทธิมนุษยชน พร้อมตอกย้ำเจตนารมณ์ในการรักษามาตรฐานธรรมภิบาลอย่างเข้มข้น

ดีแทคสรุปภาพรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2565 ตอกย้ำจุดยืนของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ซึ่งมีการดำเนินงานครอบคลุมหลายมิติ ได้แก่ การสร้างเสริมทักษะดิจิทัล ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การต่อต้านคอร์รัปชัน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของเทเลนอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทค และมาตรฐานสากลอื่นๆ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UN Universal Declaration of Human Rights) และอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Core Conventions)

dtac

ดีแทคติดอันดับหุ้นยั่งยืนประจำปี 2565

ดีแทคได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ประจำปี 2565 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ในปีนี้ บริษัทมีคะแนนเติบโตก้าวกระโดดในมิติสิ่งแวดล้อม 

ขณะเดียวกัน คะแนนในด้านสังคมและธรรมาภิบาลของบริษัทยังเติบโตจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการดำเนินงานภายใต้นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เคารพและปกป้องสิทธิของลูกค้า และแนวทางการรับมือกับคำขอของหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจนโปร่งใส

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการประกาศรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) โดยดีแทคนั้นได้รับเลือกเป็นสมาชิกนับตั้งแต่ปี 2559 สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลของดีแทคที่มุ่งเน้นความโปร่งใส การสนับสนุนให้พนักงานกล้ารายงานสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม และการไม่อดทนต่อการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

เผยผลสอบทานสิทธิมนุษยชน

ในยุคดิจิทัล สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยตรงนั้นหนีไม่พ้นสิทธิในข้อมูลข่าวสาร (Right to Information) และเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) และผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้นสามารถทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล ดีแทคจึงมีการดำเนินงานใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเข้าถึงอุปกรณ์และบริการการเชื่อมต่ออย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 2. การส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และ 3. การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากบริการการเชื่อมต่อและทักษะดิจิทัล

สำหรับภายในองค์กร ดีแทคเดินหน้ายกระดับมาตรฐานธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกของบุคลากร และได้จัดให้มีการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนทุกๆ 2 ปี เพื่อรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม นับตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ไปจนถึงชุมชนที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น

ในปี 2565 ดีแทคได้จัดให้มีการสอบทานประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกระบวนการสอบทานได้มีการทบทวนเอกสารรายงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก และกรอบการประเมินของเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทค เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบอ้างอิงกับบริบทของประเทศไทย โดยจากผลการสอบทานครั้งล่าสุดพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากที่สุด ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญรองลงมานั้น ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพในการแสดงออก และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Health & Safety)

ในภาพรวม ผลการสอบทานชี้ว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้นค่อนข้างสอดคล้องกับทิศทางโทรคมนาคมโลก แต่มีประเด็นที่เป็นความท้าทายเฉพาะด้าน อาทิ ประเด็นคำขอของหน่วยงานภาครัฐ (authority request) ซึ่งดีแทคได้กำหนดหลักการปฏิบัติตามคำขอของหน่วยงานภาครัฐอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายไทย หลักสิทธิมนุษยชน และขอบเขตการให้ข้อมูลโดยอ้างอิงจากวัตถุประสงค์ อีกทั้งดีแทคได้เพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตามคำขอของหน่วยงานภาครัฐสู่สาธารณชน

สร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมายสำหรับทุกคน

ภายใต้กลยุทธ์การสร้างสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม (Digital Inclusion) ดีแทคมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและสร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมาย (meaningful connectivity) สำหรับทุกคน ผ่านการนำเสนอบริการการเชื่อมต่อและบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ และการส่งเสริมการเข้าถึงทักษะดิจิทัลสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง

  1. กลยุทธ์ Beyond Mobile Connectivity: นอกจากเจตนารมณ์ในการส่งมอบบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับทุกคนแล้ว ภายใต้กลยุทธ์ Beyond Mobile Connectivity ดีแทคยังนำเสนอบริการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากบริการโทรคมนาคม อาทิ ประกันออนไลน์ บริการด้านการเงิน และโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยบริการเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้บน dtac app ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่มและพยายามลดอุปสรรคในการเข้าถึงดิจิทัล

ปัจจุบัน dtac app เปิดให้บริการใน 4 ภาษา ภายใต้แนวคิด “ค่ายไหนก็ใช้ได้” ไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าดีแทคเท่านั้น และยังมาพร้อมฟีเจอร์ dtac app lite ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้เสมือนใช้งานอยู่บน dtac app โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน ตอบโจทย์ผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่มีข้อจำกัดเรื่องหน่วยความจำ

กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานบน dtac app ที่เป็นลูกค้าเติมเงินนั้นเติบโตกว่า 3 เท่าจากปี 2563 โดยกว่า 124 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากผู้ใช้งานในต่างจังหวัด และปัจจุบันดีแทคมีผู้ใช้งานบนช่องทางดิจิทัลอยู่ที่ 7.6 ล้านราย และยังคงเติบโตต่อเนื่อง

  1. การดำเนินงานด้านสังคม: ดีแทคมีการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ใช้งานโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ dtac Safe Internet โดยในปี 2565 โครงการดังกล่าวสามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้มากกว่า 300,000 คน นอกจากนี้ ดีแทคยังมีการส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มคนเปราะบางต่างๆ อาทิ ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย ผู้ก้าวพลาด และผู้สูงวัย ภายใต้โครงการดีแทค เน็ตทำกิน เพื่อเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์ โดยที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 51%

เส้นทางสู่ Net Zero

ดีแทคมีการปรับปรุงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดทำและเปิดเผยบทวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศต่อธุรกิจ และแผนคาร์บอนฟุตปรินท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนงานและติดตามผลการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท โดยเป็นการรวบรวมและคำนวณข้อมูลจากการดำเนินธุรกิจโดยบริษัทและบริษัทในเครือ 8 แห่ง ที่บริษัทควบคุมการดำเนินงาน และข้อมูลนั้นได้รับการรับรองโดยหน่วยงานภายนอก (external assurance) ซึ่งการจัดทำ CFO นั้นจะเป็นประโยชน์ในการวางกลยุทธ์และการบริหารจัดการแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานต่อไป

ดีแทคยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงข่ายสัญญาณอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังของข้อมูล เพื่อตอบสนองอัตราการใช้งานดาต้าและความหนาแน่นของโครงข่ายที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในยุค 5G ซึ่งบริษัทตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ‘ครึ่งหนึ่ง’ ภายในปี 2573 และลดการฝังกลบขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2565 

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนกลุ่มเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าบริการโทรคมนาคมนั้นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero และการเป็นสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม ที่ผ่านมา ดีแทคทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการพื้นฐานที่สำคัญ และเราสนับสนุนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นถึงความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในสภาพแวดล้อมที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เราจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจของเรา”