หลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์’ มุ่งพัฒนาครูให้เป็นโค้ชเพื่อช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่ความผิดปกติ อันจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อลเชิงประจักษ์ว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก ที่สำคัญ “LGBT” ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่า เป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ แกล้งทางไซเบอร์ และถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย
นอกจากนี้ เด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา”
“ดีแทคและองค์การแพลนได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย จากนั้น จะพัฒนาเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้านี้ ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้ ความพยายามทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”
SOGIES คืออะไร
ในหลักสูตรการเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้น ทางดีแทคได้เลือกทำงานร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรระดับโลกของกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทค ในการนำทฤษฎีที่มีนักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC คืออะไร ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนดังนี้
- Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์
- Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
- Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน
- Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย
นางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พันธมิตรของดีแทค Safe Internet ผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรอบรมครูออนไลน์บน ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ พื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ กล่าวว่า เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ”
การเคารพความหลากหลายช่วยลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ได้
หลักสูตร การเคารพความหลากหลายทางเพศ มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่หลากหลายของความเป็นมนุษย์ เพื่อลดการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ เนื้อหามุ่งทำความเข้าใจกับผู้เรียนเข้าใจว่า มนุษย์เพศกำเนิดหญิงชาย ล้วนแล้วแต่มี อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมเพศและ การแสดงออกทางเพศภาวะ ที่แตกต่างกัน อัตลักษณ์ทางเพศ คือสิ่งที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนด สามารถเปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้ ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ จะช่วยให้เราลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเพศ รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน
หลักสูตรฯ มุ่งสร้างการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ “วิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” คืออัตลักษณ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ยังมีการแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
โจอันนา อูสตัด หัวหน้าสายงานอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวเสริมว่า “กลุ่มเทเลนอร์ เชื่อในความหลากหลายและสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยก เพราะโทรคมนาคมคือเรื่องของทุกคน ซึ่งความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยกควรจะเป็นหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยบทบาทที่สำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม คือ การสอนให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์ และเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งจะทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย”
เกี่ยวกับกลุ่มเทเลนอร์
กลุ่มเทเลนอร์ กลุ่มผู้ให้บริการการสื่อสารในแสกนดิเนเวียและเอเชีย โดยมีฐานผู้ใช้บริการจำนวนทั้งสิ้นกว่า 186 ล้านคน และมีรายได้ต่อปีกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2562) โดยตำแหน่งทางการตลาดอันดับ 1 หรือ 2 ในแต่ละตลาดที่ดำเนินธุรกิจ เทเลนอร์กรุ๊ปยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สังคม การติดต่อสื่อสารนับเป็นบริการที่เทลเนอร์กรุ๊ปให้บริการมากว่า 160 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่สำคัญของผู้คนเข้าด้วยกัน กลุ่มเทเลนอร์เข้ามาลงทุนในดีแทค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และร่วมเป็นพันธมิตรในการทำโครงการ Safe Internet
เกี่ยวกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล
องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ดำเนินงานใน 70 ประเทศทั่วโลกตลอดกว่า 80 ปีที่ผ่านมา และเริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 โดยทำงานด้านการเสริมสร้างและพัฒนาสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมของเด็กผู้หญิง ผ่านการทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน ผู้สนับสนุน พันธมิตร และภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ผ่านการทำงานโครงการต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบรรทัดฐานทางเพศ อคติทางเพศ รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางเพศ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการละเมิดสิทธิของเด็กโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง รวมถึงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก
ข้อมูลเพิ่มเติม https://plan-international.org/
บรรยายภาพ
ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” จัดงานแถลงข่าวเปิดแนวคิดหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying) เพื่อส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยนางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน (ที่สามจากขวา) นางสาวรัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (ที่ห้าจากขวา) นางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ที่สองจากขวา) นายสิทธิชัย ดวงแสง โรงรียนเชียงใหม่คริสเตียน (ขวาสุด) นายสุริยา กลิ่นพาชื่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (ที่สี่จากขวา) และนายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. (ซ้ายสุด) ร่วมงาน