ไชน่า ยูนิคอม เปิดตัวแผนปฏิบัติการ 5G-Advanced อย่างเป็นทางการในงานแถลงข่าว “Powering the Asian Winter Games with 10 Gbps Connectivity” ณ เมืองฮาร์บิน ซึ่งเป็นการรวมตัวของตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน
ไชน่า ยูนิคอม ได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรทางการสื่อสารและบริการคลาวด์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาวครั้งที่ 9
โดยแผนปฏิบัติการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่าย 5G ของบริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการยกระดับประสบการณ์เครือข่ายให้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในหลากหลายอุตสาหกรรม
ตามแผนปฏิบัติการ ไชน่า ยูนิคอม จะเปิดให้บริการ 5G-Advanced ในพื้นที่ศูนย์กลางของ 39 เมืองหลักและสถานที่สำคัญในกว่า 300 เมืองภายในสิ้นปี 2568 นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดตัวโปรแกรม 5G-Advanced Xinghuo และโปรแกรม 5G-Advanced Baichuan ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เฉพาะอุตสาหกรรมและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตามลำดับ
ไชน่า ยูนิคอม จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งพันธมิตรด้านระบบนิเวศของอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการนวัตกรรม เพื่อกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรต้นน้ำและปลายน้ำ และร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศ ของอุตสาหกรรม 5G-Advanced ปัจจุบัน ไชน่า ยูนิคอม มีสถานีฐาน 5G ที่ใช้งานร่วมกันมากกว่า 2 ล้านแห่ง ซึ่งคิดเป็นกว่า 40% ของสถานีฐาน 5G ทั่วโลก และให้บริการแก่ผู้ใช้งานกว่า 290 ล้านราย
หวัง ลี่หมิน (Wang Limin) รองผู้จัดการทั่วไป ไชน่า ยูนิคอม กล่าวว่า “ไชน่า ยูนิคอม ได้นำเทคโนโลยี 5G-Advanced และ F5G-Advanced มาพัฒนาโซลูชันการสื่อสารความเร็วสูงระดับ 10 Gbps อัจฉริยะ และปลอดภัย เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว โดยอิงตามแผนปฏิบัติการที่เพิ่งเปิดตัว
บริษัทมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม 5G-Advanced พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศจีน”
เฉา หมิง (Cao Ming) รองประธานบริษัทหัวเว่ย และประธานฝ่ายโซลูชันไร้สายของหัวเว่ย กล่าวว่า “นับตั้งแต่ยุค AI บนมือถือเริ่มต้นขึ้น การบูรณาการระหว่าง 5G-Advanced และ AI อย่างต่อเนื่องจะเปลี่ยนโฉมธุรกิจโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม พร้อมสร้างโอกาสมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนยกระดับประสบการณ์ การใช้งาน และบริการสู่มิติใหม่”
หัวเว่ยยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรม โดยผสานรวม 5G-Advanced และ AI พร้อมเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายสำหรับ AI (Networks for AI) และ AI สำหรับเครือข่าย (AI for Networks) ควบคู่กัน สำหรับ Networks for AI หัวเว่ยมุ่งใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับประสิทธิภาพเครือข่าย และพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้งาน พร้อมทั้งลดต้นทุนเครือข่ายต่อบิต
ขณะที่ในส่วนของ AI for Networks บริษัทมีแผนใช้สถานีฐานดิจิทัลและตัวช่วย AI สำหรับเครือข่ายไร้สาย (Wireless AI Agents) เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการพัฒนาเครือข่ายอัตโนมัติระดับ 4 (Level 4 Autonomous Networks) ที่มีคุณภาพและยกระดับประสิทธิภาพให้สูงขึ้น
“หัวเว่ยและไชน่า ยูนิคอม พร้อมร่วมมือกันพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของ 5G-Advanced และ AI”
ในฐานะพันธมิตรอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาวครั้งที่ 9 ไชน่า ยูนิคอม ได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อมอบเครือข่ายความเร็วสูงที่มีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือสูง รองรับการแข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมดูแลเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญกว่า 1,000 ราย
ไชน่า ยูนิคอมให้บริการเครือข่าย 5G-Advanced ความเร็ว 10 Gbps ในสถานที่จัดการแข่งขันหลัก เพื่อมอบประสบการณ์เครือข่ายที่รวดเร็วและเสถียรสำหรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ชม นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังช่วยยกระดับระบบถ่ายทอดสดการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยรองรับบริการนวัตกรรมต่าง ๆ อาทิ การถ่ายทอดสดแบบหลายช่องทางด้วยความคมชัดระดับ HD สำหรับสื่อและผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOLs) บริการวิดีโอความคมชัดสูงแบบออนดีมานด์ และการถ่ายทอดสดในรูปแบบ VR
ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาค ด้วยอัตราการเติบโตของการใช้งาน 5G ที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมาของ 5.5G ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการปฏิรูปทางดิจิทัลในระดับที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้น
ตัวอย่างสำคัญของความก้าวหน้านี้คือความร่วมมือระหว่าง AIS ไชน่า ยูนิคอม และหัวเว่ย ในปี 2567 เพื่อพัฒนาโรงงานอัจฉริยะของ Midea ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมต่อด้วยเครือข่าย 5G อย่างเต็มรูปแบบ การนำเครือข่าย 5G เฉพาะทางมาใช้ช่วยให้ทุกกระบวนการผลิตเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 15%–20%
เทคโนโลยี 5.5G กำลังก้าวสู่การปฏิรูปครั้งสำคัญในระบบการเชื่อมต่อ ด้วยความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดถึง 10 Gbps และความเร็วในการอัปโหลดไม่ต่ำกว่า 500 Mbps มอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นและไร้รอยต่อ ขณะเดียวกัน ค่าความหน่วงต่ำเพียง 1 มิลลิวินาที (1ms) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ได้อย่างเหนือชั้น
อีกทั้งการบริหารจัดการเครือข่ายอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมดิจิทัลและเปิดโอกาสให้เกิดบริการนวัตกรรมที่ล้ำสมัย อาทิ แอปพลิเคชัน IoT อัจฉริยะ ประสบการณ์ดิจิทัลแบบสมจริง เช่น ระบบสื่อสารอัจฉริยะระหว่างยานพาหนะ (Advanced Vehicle-to-Everything Communication) และโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ในขณะที่ประเทศไทยเร่งเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน นวัตกรรมด้านการเชื่อมต่อยังคงเป็นรากฐานสำคัญของความก้าวหน้า เทคโนโลยี 5G ที่พัฒนาไปสู่ 5.5G ไม่เพียงแค่เพิ่มความเร็วของเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตอัจฉริยะและการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ไปจนถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI การลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีการเชื่อมต่อรุ่นถัดไปจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนหลายล้านราย