กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรแก่หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ครบรอบ 50 ปี ประกาศนำจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ หนุนภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้กระแสเทรนด์โลกสู่เทรนด์ไทยแน่นอน กระตุ้นประเทศต้องรุดหน้า ด้วยเทคโนโลยีโซลูชันเป็นธงขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล กางแผนธุรกิจจับเทคโนโลยีมาแรงลุยทำตลาด ปูทางสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีโซลูชั่นก้าวสู่ทศวรรษที่ 6
นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ 50 ปีที่ผ่านมา ซีดีจีได้ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบ System Integrator ให้กับองค์กรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและออกแบบระบบสารสนเทศสำหรับองค์กรเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน และการเพิ่มศักยภาพด้านงานบริการสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ซีดีจีได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่าง ๆ และเลือกนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มบริษัท ซีดีจี อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการที่ดีและเหมาะสมกับจุดประสงค์ของหน่วยงานต่างๆ
“ปัจจุบันสังคมโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี (Technology disruption) รวมถึงการเกิดเมกะเทรนด์ (Mega trends) ใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้คน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของประชาชน โดยซีดีจีมองเห็น 5 เมกะเทรนด์ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกและโลกธุรกิจ” นายนาถ กล่าว
นายนาถ กล่าวถึง 5 เทรนด์โลก ที่จะเปลี่ยนแปลงบริบทของผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง และได้ส่งผลให้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
1. The Future of Smart การที่ระบบสั่งการอัตโนมัติ หรือ ระบบ AI เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีความสามารถมากกว่าหรือเท่ากับศักยภาพของมนุษย์ จนสามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ เช่น AI สามารถเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ รวมไปถึงการวางแผนกลยุทธ์ โดยในหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น อาทิ วงการโลจิสติกส์ การแพทย์ การบริการ การธนาคาร อีคอมเมิร์ซ ตัวอย่างเช่น การติดตามอาการคนไข้โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ วิเคราะห์ผล พร้อมคาดการณ์อาการโรคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ในระยะเวลาอันสั้น
2. Behavioral Revolution การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ในปัจจุบันมีการติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคทางช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาปรับใช้ในการให้บริการได้ตรงตามความต้องการของบุคคลในแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังนำพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวทางสังคม เช่นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
3. Empowered Citizen ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ต้องกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมและประชาชนทันสมัย (Smart citizen) ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างแถบประเทศยุโรป ที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนรวมในการเสนอข้อกฎหมายหรือข้อบังคับใช้ต่างๆ โดยการทำผ่านระบบออนไลน์ ข้อมูลเปิดเผยและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
4. Urban World เมืองเล็ก ๆ จะได้รับการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองที่มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล เมืองในอนาคตจะถูกสร้างบนสาธารณูปโภคอัจฉริยะ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี มีความสะดวก และปลอดภัยสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นการปรับรูปแบบเมืองให้เป็น Smart City ในหลายประเทศ
5. Resourceful Planet การใช้นวัตกรรมเพื่อพลังงานทดแทน ด้วยเทคโนโลยีอย่าง IoT และ Machine Learning เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เช่น การติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก โดยเปิดให้ผู้อยู่อาศัยเลือกที่จะติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เพื่อการใช้งานภายในครัวเรือน และหากเหลือจากการใช้งานแล้วยังสามารถขายพลังงานทางเลือกนี้ให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย
“การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่ภาคเอกชน จะต้องเผชิญ และต้องเร่งปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงได้เดินหน้านำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อน และสร้างศักยภาพของประเทศให้สามารถแข็งขันได้ในสังคมโลก” นายนาถ อธิบาย
นายนาถ กล่าวต่อว่า “ซีดีจีมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในการนำเสนอเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับลูกค้า ซีดีจีจะมองถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ที่เป็นลูกค้าผู้รับบริการของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเน้การเพิ่มศักยภาพองค์กรภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการและสวัสดิการที่ดี พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยได้แสดงทรรศนะว่า องค์ประกอบสำคัญเพื่อสังคมที่ดีขึ้น (Key Components of A Better Society) ต้องประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. มีความสะดวกสบาย (Convenience)2. มีความรวดเร็ว (Speed) 3. มีความแม่นยำและถูกต้อง (Accuracy) 4.ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว (Security & Privacy)และ 5. มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency) และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ การก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 นี้ ซีดีจี ตั้งเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย ด้วยการผลักดันประเทศผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ในฐานะองค์กรธุรกิจที่ดี โดยวางแผนยกระดับทิศทางธุรกิจดังนี้
1. เพิ่มพูนองค์ความรู้ (Knowledge) และสมรรถนะ (Competency) ของบุคลากรในองค์กร ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล
2. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovative Technology) มาประยุกต์ใช้เป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอในการทำโครงการใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า
3. นำเทคโนโลยีและโซลูชันที่เหมาะสมมาใช้เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (Connect) และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้นระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
4. ผลักดันให้เกิดความร่วมมือ (Partnership) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
5. ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และเป็นพลเมืองทีดีของสังคม (Corporate Citizenship)
“ซีดีจี มุ่งพัฒนาและปรับปรุงบริการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาประยุกต์ใช้ได้จริง รวมทั้งการพัฒนาบุคคลากรในองค์กรให้มีคุณภาพ นำเสนอเทคโนโลยีที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชิวีตของประชาชนไทย และยกระดับประเทศให้ก้าวทันทัดเทียมนานาประเทศ” นายนาถ กล่าวทิ้งท้าย