คลังเก็บ

AWS ย้ำความสำคัญของ ‘AWS Activate’ โปรแกรมพิเศษเพื่อเส้นทางสู่ ‘สตาร์ทอัพยูนิคอร์น’

‘AWS Activate’ โปรแกรมโครงสร้างทรัพยากรเทคโนโลยีสำหรับลูกค้าธุรกิจใหม่ รวมถึง AWS เครดิต, การฝึกอบรม, การสนับสนุนนักพัฒนา, ฟอรั่มพิเศษสำหรับชุมชนธุรกิจใหม่ และข้อเสนอพิเศษจากบริษัทต่าง ๆ โดยที่ ‘ AWS Activate’ ได้รวบรวมทรัพยากรมากมายไว้ในโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจใหม่สามารถตั้งต้นบน AWS ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพื่อการประสบความสำเร็จในการใช้แพลตฟอร์ม AWS ในการขยายธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มต้นเป็นสตาร์ทอัพได้ไม่ยากเหมือนเดิม

การเข้าถึงทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสำหรับสตาร์ทอัพใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงความสามารถปรับขนาดการใช้ทรัพยากรตามการเจริญเติบโตของธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ด้วยระบบ Cloud Computing ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้บริการแบบจ่ายตามจริง และสามารถเลือกปรับได้ตามความต้องการ

คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด เล่าว่า “ในปัจจุบัน มีเครื่องมือเสริมที่ช่วยให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ต้องหาสถานที่ติดตั้งเครื่องเซิฟเวอร์เอง มีค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบมากมาย แต่พอมี AWS ที่เป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคล่องตัว ทำให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่สร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็ว และง่ายขึ้นมาก จนสามารถทุ่มเทเวลาไปโฟกัสกับการพัฒนาสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น”

โดยทาง ไลน์แมน วงใน มีความตั้งใจที่จะเป็นแชมป์ในประเทศ (National Champion) เพราะคิดว่าประเทศไทยมีตลาดที่ใหญ่พอ รวมถึงการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่อาจต้องใช้เวลา และให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ใช้งานเป็นหลัก (Customer Centric) ได้แก่ ผู้ใช้บริการทั่วไป เจ้าของร้านอาหาร และผู้ขับรถส่งสินค้าของเรา

และด้วยบริการของทาง AWS ก็จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมีเวลาทุ่มเทให้กับสิ่งที่สำคัญอย่างการให้บริการลูกค้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ตอบโจทย์ของธุรกิจทั้งด้านความต้องการใช้เทคโนโลยี การสนับสนุน การแบ่งปันความรู้ และทรัพยากรสารสนเทศเพิ่มเติมบนระบบ Cloud ที่ทำให้การใช้งานเพื่อการขยับขยายธุรกิจเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น

‘AWS Activate’ มีสองแพ็คเกจให้เลือก ได้แก่ ‘Activate Founders’ ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นที่ไม่ได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงิน และ ‘Activate Portfolio’ ซึ่งเปิดให้บริการเฉพาะสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นและระยะเติบโตที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ หน่วยงานเร่งการเติบโต หน่วยงานบ่มเพาะธุรกิจ หรือหน่วยงานอื่น ๆ พร้อมสนับสนุนด้วยกองทุนร่วมลงทุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ รวมไปถึงการฝึกอบรมผ่านเว็บ และหนึ่งสิทธิสำหรับใช้ห้องปฏิบัติการด้วยตัวเองแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้ลูกค้าธุรกิจใหม่ได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ และมีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีของ AWS

“เรายินดีที่ได้ร่วมมือ กับ AWS และโดยเฉพาะโปรแกรมอย่าง ‘AWS Activate’ ที่เป็นแพ็คเกจสำหรับสตาร์ทอัพใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถตั้งต้นบน AWS ได้อย่างรวดเร็ว โดยเราลงทุนกับสตาร์ทออัพในระดับ Seed Stage ที่มีเงินทุนและความรู้จำกัด จึงทำให้การสนับสนุนจาก AWS นั้นสำคัญทั้งในด้าน Credit และ Business Mentorship” คุณมะเหมี่ยว ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 TukTuks กล่าว

เสริมทั้งความรู้และประสบการณ์จากนักธุรกิจตัวจริง

ธุรกิจใหม่ที่ใช้งานแพ็คเกจข้างต้นจะมีสิทธิ์เข้าใช้ AWS Startup Forum (เอดับบลิวเอส สตาร์ทอัพ ฟอรั่ม) ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศกับผู้เชี่ยวชาญของ AWS และ AWS Startup Forum  ที่มอบโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในชุมชนธุรกิจใหม่ของ AWS รวมถึงการเข้าถึงเคล็ดลับน่ารู้จากผู้ก่อตั้งธุรกิจใหม่ที่มีประสบการณ์และคำแนะนำจากผู้สร้างโปรแกรม AWS ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

ด้านคุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอมิตี้ ยืนยันว่าการได้รับ Business Mentorship สำคัญมาก ไม่ว่าจะอ่านหนังสือเยอะขนาดไหนก็ไม่เท่าคนที่เคยทำงานจริงไม่ว่าจะเป็นคนในธุรกิจสตาร์ทอัพเอง หรือจะเป็นธุรกิจทั่วไปมาเล่าหรือบอกให้ฟัง “ในช่วงแรกของการทำธุรกิจของแอมิตี้ เราผิดพลาดมาเยอะมากเพราะไม่ฟังเมนเทอร์ จึงทำให้ความร่วมมือกับ AWS ถือเป็น Valuable Ecosystem”

ทางด้านดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปถึงแนวคิดในการทำงานของ AWS ว่า “เราต้องการที่จะเป็น Enabling Platform ที่เป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพเคยต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือนในการสร้าง แต่กลับเหลือแค่ไม่กี่ชั่วโมงด้วยบริการของเราที่มีมากกว่า 175 บริการ โดยในปีที่ผ่าน ๆ มา มี Functionality ออกสู่ตลาดประมาณ 2,000 กว่าหน้าที่ เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไปโฟกัสกับการสร้างและพัฒนา User Interface และ User Experience”

เส้นทางสู่สตาร์ทอัพยูนิคอร์น

แน่นอนว่าสูตรการเป็น ‘ยูนิคอร์น’ หรือบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยทางคุณยอด ระบุว่า หากดูจากยูนิคอร์นที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ จะพบว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ตลาดที่ใหญ่พอ เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน ดังนั้น แค่ไซส์ของประเทศก็ทำเป็นยูนิคอร์นได้ด้วยตัวเอง 2. โมเดลเป็นแบบ B2C (Business to Customer) เนื่องจากมีจำนวนการใช้งานมากกว่า B2B (Business to Business) แน่นอน และสุดท้ายคือ 3. ต้องสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้งาน

ถ้าดูจากตลาดโลกแล้ว โอกาสของสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจ B2B นั้นมีโอกาศที่จะกลายเป็นสตาร์ต์อัพยูนิคอร์นได้มากกว่า แต่ในภูมิภาค Southeast Asia ยังไม่มีตลาดที่ใหญ่พอสำหรับสตาร์ตอัพ B2B ให้กลายเป็นยูนิคอร์น ทำให้บริษัท แอมิตี้ ตัดสินใจที่จะเป็น Global Player เพื่อเติบโตในต่างประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 100 ตำแหน่งเพื่อรองรับการขยายกิจการ

“เราตระหนักรู้ตรงนี้ เราจึงย้ายส่วน Business Development ของเราไปอยู่ที่ลอนดอนและเท็กซัส เพื่อที่จะไปจับตลาดใหญ่ พอที่จะทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยใช้บริการต่างๆ ของ AWS เช่น ‘AWS EKS Fargate’ ที่ทำให้เราขยายฐานการให้บริการได้อย่างง่ายดายและเต็มประสิทธิภาพ” คุณกรวัฒน์ กล่าว

ด้านคุณมะเหมี่ยว ปารดา กล่าวโดยสรุปว่า ไม่อยากให้สตาร์ทอัพโฟกัสกับการเป็น ‘ยูนิคอร์น’ เพราะปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เป็นหรือไม่เป็นยูนิคอร์นก็คือ ‘เงินลงทุน’ แต่อีกสิ่งหนี่งที่สำคัญคือการเติบโตอย่างยั่งยืน จนสุดท้ายแล้วการที่จะเป็นยูนิคอร์นหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สตาร์ทอัพใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นมาได้อีกแน่นอน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AWS Activate ได้ที่ aws.amazon.com/activate