AIS โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึง การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรภาคธุรกิจกลุ่มแรกในโครงการโมเดลโรงเรียน P–TECH (Pathways in Technology Early College High School) ของ IBM ที่พัฒนาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรภายใต้โครงการ P–TECH เพื่อร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาด้านการศึกษาไทย ที่มุ่งเน้นในการสร้างบุคลากรมืออาชีพในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคที่ทุกอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของ Digital Disruption”
“สำหรับ AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล – Digital Life Service Provider เรามองเห็นทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมหาศาล จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัลในตลอดช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จึงเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการปรับโครงสร้างองค์กรและบรรยากาศในการทำงานอย่างเหมาะสม สำคัญที่สุดคือ พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรผ่านหลากหลายรูปแบบ สร้างวัฒนธรรมในการตื่นรู้ รวมถึง สร้างทีมทำงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน Innovation และ Big Data เพื่อร่วมทำงานตอบโจทย์ในส่วนงานธุรกิจดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง เราจึงมองเห็นความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายงานด้านไอทีและวิศวกร อาทิ AI, Fintech, Digital Payment , IoT, Cloud, Big Data, Blockchain, AR-VR, Cyber Security เป็นต้น”
ทั้งนี้ IBM และกระทรวงศึกษาธิการ จะผนึกกำลังร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจอย่าง AIS, Minor ในการพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและการทำงานที่จำเป็นสำหรับอาชีพในยุคนี้ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และสเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาได้สัมผัสกับ ‘ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา’ (new collar) ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการบริการในยุคดิจิทัล พร้อมสนับสนุนพันธกิจของรัฐบาลในการสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และการพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ
“ในฐานะภาคเอกชนที่ต้องการกลุ่มบุคลากรในสายงานดังกล่าว AIS ตั้งใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนภาคการศึกษาของประเทศสร้างบุคลากรสายพันธุ์ Digital มาเสริมนโยบายการขับเคลื่อนประเทศผ่านการจ้างงานจากบริษัทในเครือข่าย P-TECH ให้เด็กไทยได้เรียนรู้ พัฒนาตนเอง พร้อมเป็นหนึ่งในตัวเลือกของตลาดแรงงานที่ศักยภาพสูงในอนาคตต่อไป” นายสมชัย กล่าวสรุป
เกี่ยวกับ โครงการโมเดลโรงเรียน P-TECH
P-TECH ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้ขยายโครงการไปแล้วกว่า 19 ประเทศ และคาดว่าจะมีการนำไปใช้ในโรงเรียนมากกว่า200 แห่งทั่วโลก ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 โดยมีพันธมิตรจากบริษัทต่างๆ กว่า 650 บริษัท ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และการผลิตขั้นสูง เข้าร่วมและเริ่มบ่มเพาะเยาวชนอย่างเห็นผล
โครงการ P-TECH ในประเทศไทย จะเริ่มจริงในปีการศึกษา 2563 ในรูปแบบโปรแกรมการเรียน 5 ปี และเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน นักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจาก IBM และพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ทั้งในแง่การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและด้านธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่างๆ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานโดยได้รับค่าตอบแทน โดยเมื่อจบหลักสูตร นักเรียนกลุ่มนี้ จะมีโอกาสในการได้รับการพิจารณาเข้าทำงานเป็นอันดับแรกๆ กับ IBM, AIS, Minor และพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ นักเรียนที่ร่วมโครงการยังจะได้เรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูล อนาไลติกส์ ดีไซน์ธิงค์กิง อไจล์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ เป็นต้น