จากสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ หรือที่เรียกว่า “หมอกควันอินโด” ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ขณะนี้ เกิดมลพิษทางอากาศ สภาวะฝุ่นและหมอกควันปกคลุมพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นเกินมาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาและความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว AIS โดยโครงการ AIAP (AIS IoT Alliance Program) ภาคีความร่วมมือด้านเทคโนโลยี IoT ระดับประเทศ ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ และ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนานวัตกรรม IoT อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยี NB–IoT ด้วยอุปกรณ์ DEVIO NB–XBEE l เป็นรายแรกของไทย
นำร่องติดตั้งอุปกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน อาทิ จังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ปัตตานี และกรุงเทพ เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามคุณภาพอากาศ และอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านทางเว็บไซต์ http://airsouth.things.in.th โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเช็คสภาพอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะได้รับมือและป้องกันตัวเองจากสถานการณ์ฝุ่นควันดังกล่าว
ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของการนำเทคโนโลยี NB–IoT ด้วยอุปกรณ์ DEVIO NB–Xbee I มาพัฒนาและออกแบบอุปกรณ์ IoT ที่ใช้งานได้จริงแล้วเป็นรายแรกของไทย ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม อันเป็นการยกระดับนวัตกรรม Smart City ของประเทศไปอีกขั้น
เทคโนโลยี IoT DEVIO NB–Xbee I เป็นชุดอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณ มีจุดเด่น คือ มีขนาดเล็ก ใช้ไฟน้อย ประหยัดพลังงาน จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย AIS NB–IoT ที่ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยทีมงานของ AIS IoT Alliance Program (AIAP) โครงการความร่วมมือของสมาชิก 1,400 ราย จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution
เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution หรือ Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน