เดินหน้าภารกิจเร่งด่วน AIS 5G สู้ภัยโควิด-19 ต่อเนื่อง นำเครือข่าย 5G อัจฉริยะ เสริมศักยภาพวงการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยผนึก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมพัฒนา 5G Total Telemedicine Solutions เต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยกเป็น โรงพยาบาลต้นแบบแห่งการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G รายแรกของไทย
โดยผสมผสาน 5G ในทุกมิติของการให้บริการทางการแพทย์ ด้วยนวัตกรรม 5G Robotics หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วย, ระบบประมวลผล AI อัจฉริยะบน 5G เพิ่มขีดความสามารถเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ช่วยให้การวินิจฉัยโรคเร็วขึ้นหลายเท่าตัว, Telemedicine ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ ปรึกษาหมอออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ตลอดจนนำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และการวิจัยพัฒนาในอนาคต
ตอกย้ำแนวคิด “5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต” ลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คนไทย เข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบเท่าเทียม พลิกโฉม สร้าง New Normal วงการแพทย์ ยกระดับสาธารณสุขไทยอย่างยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “จากวันที่เอไอเอสได้ประกาศวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำดิจิทัลไลฟ์เพื่อคนไทย ในการเดินหน้าภารกิจเร่งด่วนนำเครือข่าย 5G ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือคนไทย และ ประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
เราได้ทยอยส่งมอบความช่วยเหลือถึงมือทีมแพทย์และพยาบาลผู้เป็นด่านหน้าในการรับมือวิกฤตนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด –19 ซึ่งส่งมอบไปแล้ว จำนวน 18 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 17 แห่ง ขณะนี้ กำลังเร่งพัฒนาและส่งมอบให้ครบทั้งหมดจำนวน 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2563
นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่การแบ่งเบาภาระ ลดเสี่ยง ลดสัมผัส ลดโอกาสติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังทำให้คนไทยได้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากช่วยลดข้อจำกัด และสร้างความเท่าเทียมในการรับบริการด้านสาธารณสุขของคนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
วันนี้ ถือเป็น Big Move อีกก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของการนำ 5G ช่วยเหลือและสนับสนุนการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบไปอีกขั้น โดยเอไอเอสรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เราได้มีโอกาสนำเทคโนโลยี 5G มาร่วมยกระดับศักยภาพการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ หรือ 5G Total Telemedicine Solutions ในหลากหลายมิติ ให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่การนำ 5G เข้ามาผสมผสานเพิ่มขีดความสามารถให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง เพื่อทำให้อุปกรณ์ทางแพทย์สามารถทำงานและแสดงผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
ดังเช่น ครั้งนี้ ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI บนเครือข่าย 5G สำหรับเครื่อง CT Scan ปอด เครื่องแรกของไทยอีกด้วย เพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้นหลายเท่าตัว, การมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่าง เพื่อเซฟทั้งทีมแพทย์และผู้ป่วยให้ปลอดความเสี่ยงโควิด-19
ตลอดจน การนำแอปฯ เกี่ยวกับบริการพบแพทย์ออนไลน์ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาแพทย์ผ่านทางไกลจากที่บ้าน โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ช่วยในการคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเบาภาระให้กับทีมแพทย์ รวมถึงเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งยังได้นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโมเดลต้นแบบของการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาในอนาคต เตรียมความพร้อมสู่ New Normal วงการแพทย์ไทยหลังยุคโควิด-19 ซึ่งเราก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายและส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยี 5G เพื่อการแพทย์สู่สังคมไทย”
ทั้งนี้ 5G Total Telemedicine Solutions เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย
1. นำ 5G สนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผล AI อัจฉริยะสำหรับเครื่อง CT Scan ปอด บนเครือข่าย 5G เครื่องแรกของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง CT Scan ให้สามารถส่งภาพปอดที่มีไฟล์ขนาดกว่า 300 MB ขึ้นไปประมวลผลผ่านระบบ AI–assisted Medical Imaging Solutions for COVID–19 ได้อย่างรวดเร็ว โดย ระบบ AI จะทำการเปรียบเทียบภาพปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศจีนและไทยที่มีอยู่จำนวนหลายเคส บน Cloud Computing และประมวลผลว่าปอดของผู้ป่วยคนนี้ มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และอยู่ในระยะไหน ซึ่งให้ผลแม่นยำถึง 96% และช่วยลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 วินาทีเท่านั้น ทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่รวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ เครือข่าย 5G ยังมีประโยชน์ที่เด่นชัดอย่างมากในด้าน Mobility ซึ่งหากมีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ออฟติกได้เข้าไปปล่อยสัญญาณได้ ก็สามารถใช้เครือข่าย 5G ได้แทน
2. ส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ, เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ, Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่าน Video Call เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ทำงานบนเครือข่าย 5G ภายใต้ระบบประมวลผล AIS Robot Platform ซึ่งเอไอเอสพัฒนาขึ้นเอง ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง และสามารถ Customized ให้ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละโรงพยาบาล โดยจะถูกนำไปใช้งาน ณ หอผู้ป่วยในของผู้ป่วยโควิด-19 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
3. สนับสนุนสมาร์ทดีไวซ์ (Device), เครือข่าย (Network) และแอปพลิเคชัน (Application) แบบครบวงจร เพื่อเสริมประสิทธิภาพบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ด้วยระบบ Video Call ซึ่งถูกนำไปใช้งานที่ศูนย์บริการ COVID–19 Call Center ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยร่วมกับแอปพลิเคชัน “ME–MORE” (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอปฯ พบแพทย์ออนไลน์ ที่ให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพียงลงทะเบียนผ่านแอปฯ ME–MORE จากนั้นระบบจะจัดสรรคิวในการพบและพูดคุยกับแพทย์ พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลรักษาได้ทันที ในกรณีที่มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ก็จะทำการนัดเข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในอนาคต ยังสามารถขยายผลไปสู่การดูแลรักษาโรคอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบได้อีกด้วย
4. นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Smart Class Room ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยสร้างห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งการเรียนในห้องเรียนที่มี Social Distancing และการเรียนออนไลน์สำหรับนักศึกษา รวมทั้งการฝึกปฏิบัติแบบเรียลไทม์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะช่วยประเมินการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การสาธารณสุข และให้บริการทางการแพทย์ ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกระดับชั้นให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เองก็ได้มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบต่างๆ มาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสงสัยติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังสามารถพบแพทย์อยู่ที่บ้านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในช่วงนี้ ตามมาตรการให้การ “รักษาแบบมีระยะห่าง” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย ตลอดจนลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการเผชิญหน้าของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ทุกส่วนงาน
โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับเอไอเอส ในการยกระดับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของนำเทคโนโลยีชั้นนำแห่งยุคอย่างนวัตกรรมเครือข่าย 5G มาสนับสนุนการทำงาน เสริมประสิทธิภาพการดูแลและตรวจรักษาผู้ป่วยในช่วงโควิด –19 ให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งในส่วนการให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วย หรือหาหมออยู่ที่บ้านผ่านระบบ Telemedicine ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่สามารถให้ภาพและเสียงที่คมชัด ช่วยให้แพทย์ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นและวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ, ระบบ AI บนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดความเร็วสูง หรือ CT Scan ปอด ที่จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่ออยู่บนเครือข่าย 5G เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงที
รวมถึงการมีหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE ที่มาพร้อมความสามารถในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการ Video Call ช่วยให้การติดตามและเฝ้าดูอาการผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และช่วยลดการติดต่อระหว่างคนไข้ติดเชื้อกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุด พร้อมผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน”