นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “หากพูดถึงองค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้ท่ามกลาง Digital Disruption กลไกหนึ่งที่สำคัญ คือการปรับจังหวะเคลื่อนที่ขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่น และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเบิกทางให้กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ โดยมีองค์กรเป็นศูนย์กลางเพื่อเร่งเครื่องยกระดับคุณภาพของบุคลากร
เอไอเอส เป็นองค์กรขนาดใหญ่ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เดินหน้าในยุคดิจิทัล หากไม่รีบพัฒนาและเตรียมความพร้อมของบุคลากร อาจทำให้เสียรังวัดและไม่ทันการณ์ เอไอเอสจึงลุกขึ้นมาปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยไม่รอให้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกำหนดให้เปลี่ยน แต่ได้สร้างมาตรฐานการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาธุรกิจและปั้นคนกว่า 12,000 คน ภายในองค์กร ให้รู้ลึกและรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
โดย เอไอเอส อะคาเดมี ทำหน้าที่เสมือนสถาบันพัฒนาศักยภาพให้พนักงานในองค์กร ให้มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งเนื้อหาความรู้และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทำงาน โดยวางเป้าหมายให้เกิดเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่พร้อมปรับตัวและก้าวทันโลกเทคโนโลยี เอไอเอส อะคาเดมี จะไม่ใช่การจัดทำหลักสูตรให้คนมาเข้าห้องอบรมสัมมนาแล้วจบไป แต่จะให้พนักงานกำหนดสิ่งที่อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ให้เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและแทรกซึมอยู่ใน DNA ของคนเอไอเอสทุกคน”
· กระบวนการแก้ปัญหาแบบ Design Thinking
นางสาวกานติมา เล่าต่อว่า “จากความต้องการที่ต่างกันของกลุ่มลูกค้าหลากหลายเจเนอเรชัน ทำให้แนวคิด ‘Design Thinking’ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าและสร้างบริการที่รองรับความต้องการซึ่งมีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างรวดเร็วทันใจ โดยเริ่มการเรียนรู้ Pain Point ของลูกค้า และหาทางออกของความท้าทาย โดยการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้สามารถตอบโจทย์และส่งมอบบริการแก่ลูกค้าได้อย่างดีที่สุด”
· Digital Learning Platform
นางสาวกานติมา เล่าถึงความหลากหลายของบุคลากรภายในองค์กรว่า “เอไอเอส มีพนักงานหลากหลายช่วงวัย มีประสบการณ์และความรู้ที่แตกต่างกันออกไป เอไอเอสมุ่งออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับทุกคน จนได้พัฒนา Digital Learning Platform ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า ‘AIS Digi’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับชั้นเข้ามาเรียนรู้, ค้นคว้า และทำกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เป็นการทลายข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ลงไปได้อย่างสิ้นเชิง”
สำหรับ AIS Digi จะแบ่งกิจกรรมย่อยออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ AIS Learn Di เปรียบเสมือนแหล่งการเรียนรู้นอกเวลางาน ทุกคนสามารถเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี, นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งในแต่ละบทเรียน จะออกแบบให้มีระบบการประเมินผลที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนความเข้าใจ เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้งานจริง ต่อมา AIS Read Di ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดออนไลน์ ให้พนักงานได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ง่ายและสะดวก พร้อมด้วยฟังก์ชันเลือกดูหนังสือที่น่าสนใจและยืมหนังสือจากห้องสมุดขององค์กรได้ด้วย สุดท้าย AIS Fun Di เป็นแหล่งรวบรวมกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยกำหนดให้มีระบบการสะสมแต้ม ภายใต้เงื่อนไขการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทกำหนด เพื่อนำมาแลกของรางวัลที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็น บัตรที่พักโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น
· Innovation Idea
นางสาวกานติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามีความเชื่อมั่นว่า บุคลากรของ AIS มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นิยามของคนรุ่นใหม่ของเรา ไม่ได้จำกัดเพียงแค่อายุ วุฒิการศึกษา หรือระยะเวลาการทำงาน แต่จะแสดงออกด้วยความคิดและการลงมือทำ ด้วยความหลากหลายของคนที่มีความรู้ มีศักยภาพจุดแข็งแตกต่างกัน หากเกิดการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน ก็เปรียบเสมือนเรือลำเล็ก ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความหลากหลายทางความคิด คอยช่วยเหลือผลักดันองค์กรให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา เอไอเอส อะคาเดมี ได้ออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ด้าน Innovation อย่างเต็มที่ โดยเน้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ ใครที่สนใจหรืออยากเป็น StartUp เราก็มีเวทีให้ประชันความคิด ออกแบบธุรกิจใหม่ๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจริงในอนาคตได้ รวมทั้ง ยังได้ออกแบบหลักสูตร ACT (AIS Creative Talent) เป็นกิจกรรมสำหรับพนักงานทุกระดับ ให้ได้แสดงออก ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เปิดรับแรงบันดาลใจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ ของประเทศไทย”
· ยกระดับศักยภาพบุคลากรสู่ระดับสากล
นอกจากนี้ เอไอเอส โดยสถาบันเอไอเอส อะคาเดมี ยังได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรให้ทัดเทียมกับนานาชาติระดับสากล โดยล่าสุด ด้วยความร่วมมือกับ SEAC จึงได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ให้เป็นองค์กรเดียวในภาคธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ร่วมโครงการศึกษาวิจัยเพื่อเสริมสร้างความพร้อมสำหรับเอไอเอส ตลอดจนสังคมไทย โดยร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำในประเทศไทยในสาขาอื่นๆ นอกเหนือโทรคมนาคม เพื่อเร่งเสริมศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับ Digital Disruption อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอื่นๆ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ทส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา, Harvard Business School และ มหาวิทยาลัย Manchester จากสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมเปิดโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆ กับผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมหลักสูตรจากประเทศชั้นนำทั่วโลก
“ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางของการพัฒนาบุคลากรที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นฐานรากที่มั่นคงในการสร้างคนสายพันธุ์ใหม่ของเอไอเอสอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวกานติมา กล่าวสรุป