หากมองถึงเป้าหมาย ตามที่ รมต.ดีอีเอส บอกว่า “อยากเห็น NT (บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทโทรคมนาคมไทยชั้นนำ 1 ใน 3 ของประเทศ” ฉะนั้น ช่วงเวลานี้ NT คงเปรียบเสมือนการสตาร์ทออกจากลู่วิ่ง ว่าจะออกตัวมาวิ่งแข่งกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ อย่างไม่น้อยหน้าได้อย่างไร
คลื่น 5G ถือว่าเป็นคลื่นที่ทุกๆค่าย กำลังปลุกปั้นให้กลายเป็นจุดเด่นของตัวเอง การที่ NT ยังไม่มีพาร์ทเนอร์สำหรับเปิดให้บริการ 5G จังหวะนี้จึงนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ว่าจะเลือกใครเป็นพันธมิตรเพื่อเสริมทัพเครือข่ายของตนเอง ให้พร้อมใช้งานอย่างคุ้มค่าและรวดเร็วมากที่สุด สมศักดิ์ศรีความเป็นบริษัทโทรคมแห่งชาติ
ก่อนที่จะรู้ว่าค่ายยักษ์ใหญ่รายไหน พร้อมหรือเข้าคู่ กับ NT ที่สุด
เรามีเงื่อนไข 4 ข้อสำคัญที่ต้องรู้ ต่อการพิจารณาเลือกพันธมิตร 5G ของ NT ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังแบบเข้าใจง่ายๆ
เรื่องที่ 1 คลื่น 700 MHz ของ NT ควรทำแบบ 5G NSA หรือ 5G SA?
ในเชิงเทคนิค การให้บริการ 5G มี 2 แบบหลักๆ คือ 5G NSA (Non Standalone) และ 5G SA (Standalone) ลักษณะก็ตรงตัวตามชื่อ กล่าวคือ 5G NSA (Non Standalone) เป็นการนำคลื่นและเสาสัญญาณ 4G มาร่วมให้บริการกับคลื่น 5G (ณ ทีนี้ เราเรียกคลื่น 4G ที่นำมาร่วมให้บริการกับ 5G ว่า 4G Anchor Band) เพื่อให้เกิดเป็นบริการแบบ 5G NSA ซึ่งเป็นแบบที่ประเทศไทยและทั่วโลกใช้งานกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเรื่องการขยายและติดตั้งเครือข่ายทำได้อย่างรวดเร็ว และคุ้มค่าต่อการลงทุน
ส่วน 5G SA (Standalone) เป็นการให้บริการบนคลื่น 5G เดี่ยวๆ เพียงคลื่นเดียว โดยไม่ต้องพึ่งพาคลื่น 4G ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมปฏิบัติ เนื่องจากมีจุดด้อยอยู่หลายประการ ทั้งการใช้งบประมาณมหาศาล และยังไม่มีดีไวซ์รองรับมากพอ
ในกรณีของ NT คลื่น 700 MHz ก็เช่นกัน สามารถให้บริการได้ทั้งแบบ 5G NSA หรือ 5G SA ซึ่งก็ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ ความคุ้มค่าต่อการลงทุน และการใช้งานได้จริงของลูกค้า
เรื่องที่ 2 4G Anchor Band คืออะไร เกี่ยวข้องกับ 5G อย่างไร
4G Anchor Band คืออะไร หากเรียกตามภาษาชาวบ้าน คือ คลื่น 4G ที่สามารถจับคู่หรือผสานการให้บริการร่วมกับคลื่น 5G ได้ เรียกง่ายๆว่า คลื่นคู่ นั่นเอง
ตามมาตรฐานสากลของ 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) หน่วยงานตามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิค กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ระบุว่า 4G Anchor Band ของคลื่น 5G 700 MHz คือ คลื่น 1800 MHz (4G) และ คลื่น 2100 MHz (4G) เท่านั้น ส่วนคลื่นอื่นๆ เช่น 850 MHz (4G) ไม่สามารถใช้เป็น 4G Anchor Band ให้กับคลื่น 5G ได้
ทีนี้ เรามาพิจารณา คลื่นความถี่ที่ NT ในนามของ TOT และ CAT ครอบครองอยู่
จากตารางจะเห็นว่า NT ของทางฝั่ง CAT มีคลื่น 4G 850 MHz อยู่จำนวน 20 MHz และเป็นพันธมิตรร่วมสัญญากับ TRUE อยู่ และ NT (CAT) มีคลื่น 5G 700 MHz จำนวน 20 MHz
ในขณะที่ NT โดย TOT นั้นมีคลื่น 4G 2100 MHz จำนวน 30 MHz ที่เป็นพันธมิตรร่วมสัญญากับ AIS อยู่ และ NT (TOT) มีคลื่น 5G 26 GHz จำนวน 400 MHz
หากพิจารณาตามหลักการ 3GPP นั้น AIS มีภาษีเหนือกว่า เพราะคลื่น 2100 MHz ที่ NT (TOT) เป็นพันธมิตรร่วมสัญญากับ AIS อยู่ สามารถใช้เป็น Anchor Band ให้กับคลื่น 5G 700 MHz ได้เลย ในขณะที่ คลื่น 850 MHz ที่ NT (CAT) เป็นพันธมิตรร่วมสัญญากับ TRUE ไม่สามารถใช้เป็น Anchor Band ให้กับคลื่น 700 MHz
เรื่องที่ 3 Network code กุญแจสำคัญพันธมิตร 5G ที่ใครๆ อาจไม่เคยรู้มาก่อน
Network Code หรือรหัสคลื่น ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะมี Network Code เฉพาะของตัวเอง ซึ่งการนำ 4G Anchor Band มาร่วมให้บริการกับคลื่น 5G นั้น ทั้งคลื่น 4G และ 5G จำเป็นต้องใช้ Network Code เดียวกัน หรือ ค่ายเดียวกันนั่นเอง อันเป็นไปตามระเบียบการใช้คลื่นขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ด้วย
นั่นหมายความว่า คลื่น 700 MHz ของ NT จะต้องใช้งานร่วมกับคลื่น 4G ที่เป็น Network Code ของ NT เองเท่านั้น
ณ ทีนี้ NT มีคลื่น 4G อยู่ 2 คลื่น คือ 2100 MHz (ร่วมกับ AIS) และ 850 MHz (ร่วมกับ TRUE) ย้ำอีกครั้งว่า ตามหลักเทคนิคที่ว่า 850 MHz เป็น Anchor Band ให้กับคลื่น 700 MHz ไม่ได้ ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้ AIS จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
ที่ผู้เขียนต้องหยิบเรื่อง Network Code มาทำความเข้าใจให้ทุกคนทราบ เพราะ อาจมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า คลื่น 1800MHz และ 2100MHz ที่ AIS และ TRUE ถือครองเองอยู่นั้น สามารถเอามาทำเป็น Anchor Band กับคลื่น 700 MHz ของ NT ได้หรือไม่ ก็คงชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ เพราะการทำ 5G NSA ตัว Network Code ของคลื่น 4G และ 5G ต้องเป็นตัวเดียวกันนั่นคือ Network code ของ NT เท่านั้น
เรื่องที่ 4 Device ที่รองรับการใช้งาน 5G ได้จริง
ถ้ายึดผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะได้ใช้งาน 5G อย่างแท้จริง เรื่องดีไวซ์ที่รองรับ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ด้วยปัจจุบัน สมาร์ทโฟน 5G ในตลาดกว่า 40 รุ่น เกือบทั้งหมดเป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G NSA ส่วนสมาร์ทโฟน 5G SA ที่รองรับคลื่น 700 MKz ยังไม่มีวางจำหน่ายทั้งในไทยและทั่วโลก ดังนั้น หาก NT ต้องการจะให้บริการ 5G ที่ตอบโจทย์การใช้งานผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทันที ก็ควรต้องจับมือกับพันธมิตรที่ให้บริการ 5G แบบ NSA นั่นเอง ถ้า NT ยังดึงดันทำ 5G ร่วมกับพาร์เนอร์ ที่ทำได้แค่ 5G SA ก็จะส่งผลกระทบต่อลูกค้าแน่นอน เพราะมีทางเลือกน้อยในการหาดีไวซ์ 5G SAมาใช้งาน และกว่าที่ดีไวซ์ 5G SA จะทยอยเข้าสู่ตลาดก็คงราว ๆ ครึ่งปีหลังของปี 64
เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงทั้ง 4 ข้อ ผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
สมมุติถ้า NT ร่วมเป็นพันธมิตรกับ TRUE จะไม่สามารถให้บริการ 5G NSA บน คลื่น 700 ได้ เพราะตามที่เกริ่นไป คลื่น 850 MHz (4G) ไม่สามารถใช้เป็น 4G Anchor Band ให้กับคลื่น 5G 700 MHz และถึงแม้ NT (CAT เดิม) จะเป็นพันธมิตรร่วมสัญญากับ TRUE อยู่แล้วก็ตาม ซึ่งถ้าหากจะร่วมมือกับ TRUE จริง ๆ ทาง NT จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านเครือข่าย รวมถึงอุปกรณ์เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียทั้งเม็ดเงินและเวลาไปโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
หรือในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เป็นไปได้ คือการจับมือกันกับ TRUE เพื่อให้บริการ 5G แบบ SA (Standalone) คือ การให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz ของ NTเองเพียงคลื่นเดียว โดยไม่ต้องใช้ 4G Anchor Band มาควบคู่ด้วย ก็จะเจออุปสรรค ทั้งเรื่องงบลงทุนมหาศาล และลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน
ในทางกลับกัน ถ้า NT ร่วมมือกับ AIS จะสามารถเปิดให้บริการ 5G NSA (Non standalone) ได้ เพราะ NT สามารถใช้คลื่น 4G 2100 ที่มีอยู่และเป็นพันธมิตรกับ AIS อยู่แล้ว มาใช้เป็น Anchor Band กับ 5G 700 MHz ได้เลย ส่งผลให้สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์เครือข่าย และเป็นไปตามระเบียบการใช้คลื่นของ กสทช. และยังเป็นผลดีต่อลูกค้า NT ที่สามารถใช้สมาร์ทโฟน 5G ที่มีอยู่ในท้องตลาดกว่า 40 รุ่นได้เลย ทั้งรุ่นปัจจุบันและที่กำลังทยอยออกมาใหม่เรื่อยๆ ราคาหลากหลายทั้ง Mid-End และ Hi-End เริ่มต้นที่ 5,000 บาท ก็ใช้ 5G ได้แล้ว
บทสรุป
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงมองเห็นภาพรวมกันแล้วว่า NT ควรจับมือเป็นพันธมิตรกับค่ายไหน เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน และประโยชน์ของประชาชน ผู้ใช้บริการที่เฝ้ารอ 5G จากค่ายมือถือตนเอง ประกอบกับ ระยะเวลาที่บีบคั้น ตามกรอบที่ รมต.ดีอีเอส อยากให้เปิดบริการ 5G ช่วงเมษายน 64 ฉะนั้น ค่ายไหนจะคว้าบิ๊กดีล ร่วมติดปีก 5G ให้กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นรายแรก นี่น่าลุ้นจริงๆ