ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธุรกิจในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในงาน ‘THAILAND NOW AND NEXT: Thriving through The Economic Instability’
นางสาวศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย ได้เผยอินไซต์สำคัญเกี่ยวกับการใช้ดาต้าเพื่อสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดบนแพลตฟอร์ม LINE ตลอดปีที่ผ่านมา
โดยชี้ให้เห็นถึงการปรับกลยุทธ์ที่จำเป็นเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แม้จะใช้จ่ายอย่างรอบคอบและมีการวางแผนมากขึ้น อินไซต์เหล่านี้สามารถสรุปเป็น 4 แนวทางหลักที่จะช่วยธุรกิจสร้างกลยุทธ์การใช้ดาต้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ใช้ช่องทางโฆษณาแบบผสมผสาน สู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
ในอดีตแบรนด์มักเลือกสร้างแคมเปญการตลาดที่ใช้สื่อเพื่อตอบโจทย์อย่างใดอย่างหนึ่งบนเส้นทางการซื้อของลูกค้า เช่น มุ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากเพื่อสร้างการรับรู้ หรือไม่ก็มุ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการขาย
แต่ในปีที่ผ่านมา แบรนด์เริ่มหันมาใช้แบบผสมผสานมากขึ้น (Omni-Media Usage) ด้วยการลงโฆษณาในรูปแบบ Reservation Ads ควบคู่ไปกับการลงโฆษณาบน LINE Ads ด้วยการทำ Cross-Targeting โดยใช้ดาต้าในเชิงผลพฤติกรรมการดู การคลิก ที่ได้จากการลงโฆษณาในรูปแบบ Reservation Ads มาช่วยในการระบุกลุ่มเป้าหมายในการลงโฆษณาผ่าน LINE Ads ช่วยให้แบรนด์สร้างการรับรู้ถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่ม ครอบคลุมมากขึ้น
ส่งผลให้อัตราการคลิก (CTR) ของแคมเปญโฆษณาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับการเลือกใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งแยกกันในแบบเดิม โดยกลุ่มธุรกิจที่นิยมใช้กลยุทธ์นี้คือ ธุรกิจสินค้าเทคโนโลยี ที่สามารถเพิ่มอัตรา CTR สูงขึ้น 28% ยานยนต์ 76% และอาหารเครื่องดื่มถึง 209%
ลงโฆษณาหากลุ่มลูกค้าเซ็กเมนท์ใหม่ ขยายโอกาสเข้าถึงได้ครอบคลุม
ด้วย LINE มีการพัฒนาเพิ่มตัวเลือกในการระบุกลุ่มเป้าหมายสำหรับการลงโฆษณาบน LINE Ads ด้วยเซ็กเมนท์ใหม่ๆ ที่ลึกและละเอียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจเริ่มมีการทดลองเลือกระบุกลุ่มเป้าหมายในเซ็กเมนท์ใหม่
นอกเหนือไปจากการใช้เพียงกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงแบบเดิม เพื่อที่จะเข้าใจ หากลุ่มเป้าหมายใหม่ได้เพิ่มเพื่อความครอบคลุม เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่ได้ลองขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่สนใจเรื่องแต่งงาน ครอบครัว หรือ เสียงเพลง โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญโฆษณาในเชิงยอด CTR สูงขึ้น 39% 32% และ 54% ตามลำดับ กลุ่มธุรกิจความงาม
ขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ที่สนใจด้าน การเงิน การลงทุน สามารถเพิ่มยอด CTR ได้ 54% และ 64% ตามลำดับ และกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ขยายกลุ่มเป้าหมายไปกลุ่มผู้ที่สนใจเทคโนโลยี กอล์ฟ และสินค้าหรู สามารถเพิ่มยอด CTR ได้ 38% 63% และ 72% ตามลำดับ ดังนั้น นับเป็นโอกาสที่แบรนด์ควรทดลองและเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าจากการเข้าถึงความสนใจใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างและครอบคลุมขึ้น
เพิ่มความได้เปรียบด้วย 1st Party Data
ใน 4 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2021 แบรนด์เริ่มมีการเก็บข้อมูล ความสนใจ พฤติกรรมลูกค้าเป็นของตนเองหรือ 1st Party Data เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเติบโตต่อปีเฉลี่ยถึง 18% โดยกลุ่มธุรกิจที่นับว่ามีการปรับตัวในการสร้างและเก็บรวบรวม 1st Party Data บนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างเต็มศักยภาพสุด ได้แก่ ธุรกิจการเงินและประกัน ธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจกลุ่มภาครัฐ ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มี 1st Party Data ของตัวเองอยู่แล้ว นิยมใช้โซลูชั่น MyCustomer บน LINE ทำหน้าที่เป็นถังเก็บ รวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ แบรนด์สามารถอัปโหลดข้อมูลลูกค้าที่แบรนด์มีเข้าไป รวมถึงข้อมูลลูกค้าที่แบรนด์ได้จากการใช้งานฟีเจอร์ เครื่องมือต่างๆ บน LINE เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำมาจำแนก แบ่งกลุ่มลูกค้าตามเงื่อนไขที่แบรนด์ต้องการใช้ สร้างเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับสื่อสาร ทำการตลาดในรูปแบบที่แตกต่างกัน
อาทิ ธุรกิจกลุ่มการเงินและประกัน ที่นิยมนำดาต้าที่ได้ มาใช้ในการส่งข้อความบรอดแคสต์แบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Broadcast) หรือการส่ง 1:1 Push Message เพื่ออัปเดตข้อมูลบัญชี การทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้แต่ละราย นำเสนอบริการอันหลากหลาย ให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนผ่าน LINE OA ได้ ช่วยทำให้อัตราการเปิดข้อความบรอดแคสต์บน LINE OA เพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่า
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่เคยมี 1st Party Data เป็นของตัวเอง ได้มีการใช้เทคนิคเสริมอย่าง Mission Stickers มาเป็นตัวช่วยในการโน้มน้าว ดึงดูดใจ ให้ลูกค้ายอมให้ข้อมูลกับแบรนด์ได้โดยตรง อาทิ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค FMCG ที่มีการใช้ Mission Stickers ร่วมกับฟีเจอร์ ‘แบบสอบถาม’ ของ MyCustomer นอกจากช่วยให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคโดยตรงได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการเก็บข้อมูลลูกค้า ซึ่งต่ำกว่าการเก็บข้อมูลจากช่องทางอื่นๆ กว่า 50%
เพิ่มคุณค่าให้สินค้า/บริการ ด้วยประสบการณ์เฉพาะบุคคล
ด้วยการใช้งานเทคโนโลยี LINE API โดยตั้งแต่ปี 2021 ถึงปัจจุบัน แบรนด์ได้พัฒนาการเชื่อมต่อ LINE API เพื่อสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลเติบโตต่อเนื่องต่อปีโดยเฉลี่ยถึง45% ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการสื่อสาร ทำการตลาดให้ตรงระดับความสนใจของลูกค้าแต่ละคน แต่ละกลุ่มได้
อาทิ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่นิยมจัดกลุ่มลูกค้า (Lead) ด้วยความสนใจซื้อจากมากถึงน้อยเอาไว้ แล้วทำการสื่อสาร ทั้งในส่วนโฆษณาบน LINE Ads ด้วยชิ้นงานโฆษณาที่นำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างกันออกไป และส่วนการส่งข้อความบน LINE OA ที่มักเป็นกลุ่มลูกค้าในระดับ Hot Leads เพื่อกระตุ้นการซื้อได้โดยตรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นไปในรูปแบบการสื่อสาร ทำการตลาดให้ตรงกับการใช้งานจริงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละคน อาทิ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการเงิน ที่มีลูกค้าในระดับสมาชิกที่หลากหลาย จึงนิยมสร้างประสบการณ์การสื่อสารผ่าน LINE OA ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่แสดงผลใน ‘ริชเมนู’ บน LINE OA ให้แตกต่างกันไปตามระดับสมาชิกของลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น
ในสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ LINE มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันและเครื่องมือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ดาต้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างแคมเปญการตลาดในรูปแบบ Dynamic Personalization ที่เข้าถึง เข้าใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ ยังพร้อมต่อยอดสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้า กระตุ้นความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว เพื่อให้ธุรกิจสามารถฝ่าวิกฤตความไม่แน่นอนในตลาดไทยได้อย่างมั่นคงและมั่นใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต
#ThailandNowandNext #LINEforBusiness